เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 53
ศูนย์ปฏิบัติการติดตามสถานการณ์ข้าว กรมการข้าว ได้รายงาน สถานการณ์ศัตรูข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขณะนี้ได้ตรวจพบการระบาด เพลี้ยกระโดดหลังขาว ในแปลงนาของเกษตรกรบางพื้นที่ในภาคเหนือและน่าเป็นห่วง การใช้สารฆ่าแมลงที่ไม่ถูกต้องของเกษตรกรโดยเฉพาะ การใช้สารฆ่าแมลงที่ทางราชการไม่ได้ให้คำแนะนำอาจส่งผลให้เกิดการระบาดของเพลี้ยกระโดดหลังขาวรุนแรงขึ้น รวมทั้งการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่มีแนวโน้มเคลื่อนย้ายไปตามทิศทางลมจากพื้นที่ภาคกลาง
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า เพลี้ยกระโดดหลังขาว (White Backed Plant Hopper : WBPH) ตัวเต็มวัยคล้ายกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ต่างกันที่ปีกมีจุดดำที่กลางและปลายปีก และมีแถบสีขาวตรงส่วนอกระหว่างฐานปีกทั้งสอง มีทั้งชนิดปีกสั้นและปีกยาว ทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยอาศัยอยู่บริเวณโคนต้นข้าว เช่นเดียวกับเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ตัวเต็มวัยเข้ามาในแปลงข้าวช่วง 30 วันแรกหลังจากเป็นต้นกล้า พบเป็นแมลงประจำท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนบนมากกว่าภาคกลาง ในหนึ่งฤดูปลูกเพลี้ยกระโดดหลังขาวเจริญเติบโตขยายพันธุ์ได้น้อยกว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากต้นข้าวอ่อน และขยายพันธุ์เป็นพวกปีกยาว จากนั้นจะอพยพออกจากแปลงข้าวก่อนที่ข้าวจะออกดอก
ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยเพลี้ยกระโดดหลังขาว ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าว ต้นข้าวที่ถูกทำลายแสดงอาการใบมีสีเหลืองส้มซึ่งต่างจากต้นข้าวที่ถูกเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทำลายจะแสดงอาการใบสีน้ำตาลแห้งเมื่อมีปริมาณแมลงมาก ต้นข้าวอาจจะถูกทำลายจนเหี่ยวและแห้งตายในที่สุด การระบาดค่อนข้างกระจายสม่ำเสมอเป็นพื้นที่กว้าง ซึ่งแตกต่างจากเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่การระบาดทำลายข้าวจะเป็นหย่อม ๆ พบระบาดตั้งแต่ระยะกล้าถึงระยะออกรวง
การป้องกันกำจัด
1) ปลูกข้าวพันธุ์ต้านทาน เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 3 ชัยนาท 1 พิษณุโลก 2 กข31 กข37 และชุมแพ 60 โดยปลูกสลับกัน อย่างน้อย 2 พันธุ์ ไม่ควรปลูกติดต่อกันเกิน 4 ฤดูปลูก
2) ไม่ใช้สารที่มีพิษสูงต่อมวนเขียวดูดไข่ ศัตรูธรรมชาติที่สำคัญในระยะไข่ ซึ่งจะช่วยทำลายไข่เพลี้ยกระโดดที่วางในกาบใบข้าวมักพบในระยะข้าวหลังหว่าน
3) ใช้สารฆ่าแมลง เมื่อตรวจพบตัวอ่อน จำนวนมากกว่า 10 ตัวต่อต้น ให้ใช้สารฆ่าแมลง บูโพรเฟซิน หรือ สารบูโพรเฟซิน/ไอโซโปรคาร์บ หรือสารอีโทเฟนพรอกซ์ หรือ อิทิโพรลเมื่อพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัยจำนวนมากกว่า 1 ตัวต่อต้น ในระยะข้าวตั้งท้องถึงออกรวงใช้ สารอิทิโพรล หรือ สารไดโนทีฟูเรน หรือไทอะมิโตแซม
แมลงชนิดนี้นักวิจัยจากประเทศจีนรายงานว่าพบเป็น พาหะนำโรค Rice Black Streak Dwarf Virus-2 (RBSDV-2) Southern Rice Black-Streaked Dwarf Virus (SRBSDV) ซึ่งเชื้อสาเหตุคือ fijivirus พบในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และสาธารณรัฐ สังคมนิยมเวียดนาม ส่วนมากพบในข้าวพันธุ์ลูกผสมแต่ยังไม่มีรายงานว่า พบโรคไวรัสชนิดนี้ ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการชาวนา 50 แห่งใกล้บ้าน หรือศูนย์อำนวยการควบคุมกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โทร. 0-2561-3220 หรือ อีเมล bph@ ricethailand.go.th.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 5 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=96027