เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 53
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลศึกษา ทางรอดข้าวไทยเพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียนว่า พบข้อด้อย 10 ข้อ ของข้าวไทยที่ทำให้สู้ข้าวเวียดนามไม่ได้ ประกอบด้วย
1.เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่สูงกว่าไทย โดยปี 53/54 เวียดนามผลิตข้าวได้ 862.4 กก.ต่อไร่ สูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และสูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ขณะที่ไทยผลิตข้าวได้ 448 กก. ต่อไร่ เป็นอันดับ 13 ของเอเชีย และอันดับ 7 ของอาเซียน อีกทั้งไทยมีผลผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่ 594.6 กก.ต่อไร่ และต่ำกว่ากัมพูชาอีก ทั้งนี้จุดอ่อนต่อมา
2.ต้นทุนผลิตข้าวเวียดนามต่ำกว่าไทย 16.5% แต่ได้กำไรสูงกว่า 67%
3.เวียดนามส่งเสริมให้ชาวนาใช้นโยบาย 3 ลด ปริมาณเมล็ดพันธุ์ การใช้ปุ๋ยเคมี และใช้ยาปราบศัตรูพืช ขณะเดียวกันให้ 3 เพิ่ม ได้แก่ เพิ่มผลผลิต คุณภาพ และกำไร
4.ไทยสูญเสียตลาดส่งออกข้าวในอาเซียนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 48 อาทิ ฟิลิปปินส์ที่ย้อนหลัง 5 ปี เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่าไทยแล้ว 23 เท่า
5.ราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยปี 48 ข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 30 ดอลลาร์สหรัฐแต่ปี 52 ราคาข้าวเพิ่มเป็น 123 ดอลลาร์สหรัฐ
6.วิธีการทำตลาดเวียดนามใช้การทำตลาดแบบทีมเดียว โดยรัฐทำหน้าที่การตลาดและเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่วนเอกชนทำหน้าที่ส่งออก ทำให้ขยายตลาดส่งออกนอกอาเซียนได้เพิ่มขึ้น ทั้งฮ่องกง ออสเตรเลียและไต้หวัน นอกจากนี้
7.เวียดนามยังเน้นความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการผลิตข้าวและแปรรูปสินค้าข้าว โดยตั้งบริษัทร่วมทุนกับกัมพูชา และเตรียมร่วมมือกับพม่าต่อไป
8.รัฐให้การอุดหนุนลดต้นทุนการผลิต ทั้งยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และตั้งกองทุนช่วยเหลือ
9.รัฐบาลเวียดนามประกาศช่วยเหลือชาวนาบังคับให้พ่อค้าคนกลางเหลือกำไรให้ชาวนาอย่างน้อย 30% ของต้นทุนและจะมี เป้าหมายเพิ่มอีก 2.5-3 เท่าของต้นทุน และ
10.รัฐบาลเวียดนามเพิ่มการลงทุนตั้งตลาดค้าข้าวและคลังสินค้าในต่างประเทศ ซึ่งทำแล้วในฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และพม่า
นายอัทธ์กล่าวว่า เวียดนามทำตลาดเชิงรุกมาตลอดจึงทำให้ 5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนแบ่งการส่งออกข้าวเวียดนามในอาเซียนเพิ่มต่อเนื่องจาก 47% เป็น 59.9% หรือเพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยลดลงจาก 49.5% เหลือ 39.6% หรือลดลง 10% ซึ่งหากรัฐบาลไม่เร่งแก้ไขและปรับปรุงจุดอ่อน จะทำให้อีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 63 การ ส่งออกข้าวไทยจะถดถอย ปริมาณส่งออกลดลง 14% หรือไม่เกิน 5.6 ล้านตัน จากปัจจุบัน 9.5-10 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามจะเพิ่ม 25% หรือจาก 6 ล้านตัน เป็นกว่า 7.5 ล้านตัน แซงหน้าไทยไปในที่สุด
นายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า พบปัญหาน่าห่วงต่ออาชีพเกษตรกรชาวนาไทย มีจำนวนลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 9% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศต่างจาก อดีตที่เคยสูงถึง 40% เพราะที่ผ่านมาไทยมุ่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมจนดึงแรงงานภาคเกษตรเข้ามามาก และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ภาคเกษตรกรรมและชาวนาอ่อนแอ และกระทบต่อฐานะไทยในการเป็นแหล่งอาหารของโลก ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น ที่รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นมีความเข้าใจและดูแลเกษตรกรในประเทศอย่างเต็มที่ ทำให้เกษตรกรของญี่ปุ่นมีคุณค่ามากและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
“ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศไทยเชื่อว่าในอีก 2-3 สัปดาห์ข้างหน้าประเทศไทยอาจจะเกิดปัญหาภัยแล้งในประเทศได้ เพราะประเทศไทยเกิดปัญหาขาดระบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เชื่อว่าหากภาครัฐสามารถจัดการระบบชลประทาน และมีแหล่งกักเก็บน้ำที่เพียงพอก็จะส่งผลดีไปยังภาคเกษตรกรของไทย มีน้ำในการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นไปด้วย”
นายประสิทธิ์ ดำรงชิตานนท์ ประ ธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. กล่าวว่า ปัญหาที่จำนวนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีน้อยลง มาจากลูกหลานในรุ่นต่อมาหันไปประกอบอาชีพอุตสาหกรรมและอยู่ในชุมชนเมืองมากขึ้น แต่ทั้งนี้จำนวนพื้นที่ทำเกษตรกรรมในไทยมีอยู่ 120-130 ล้านไร่มองว่ามีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น
นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราฉัตร กล่าวว่า ทุ่มงบกว่า 100 ล้านบาท จัดทำแคมเปญ คอนเสิร์ตคาราบาว ข้าวตราฉัตร “จากแรง...เป็นรวง...เป็นเรา” เพื่อนำรายได้มอบให้กับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สำหรับช่วยเหลือชาวนาไทย ส่วนแนวโน้มราคาข้าวถุงจะไม่มีการขยับราคาขายปลีก โดยบริษัทได้ชะลอการขึ้นราคาขายปลีกข้าวถุงไปจนถึงสิ้นปีนี้แล้ว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 7 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=96395