เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 53
อาจกล่าวได้ว่าอาชีพเกษตรกรที่ใช้ระยะเวลาสั้นและได้เงินเร็ว คงหนีไม่พ้น “การปลูกผัก” แต่นั่นก็หมายถึงการแบกรับภาระหน้าที่ที่หนักหน่วง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งสวนทางกับราคาผลผลิตที่คงเดิมหรืออาจจะลดลงเสียด้วยซ้ำ โดยส่วนต่างตรงจุดนี้ผู้ที่ต้องแบกรับภาระเอาไว้ก็คือ “เกษตรกร”
ปัญหาต้นทุนการผลิตสูงที่สวนทางกับราคาผลผลิตมักจะเกิดกับเกษตรกรส่วนใหญ่ รวมถึงครอบครัว "สายฟ้า แก้วมรกฏ" เกษตรกรผู้ปลูกผักใน ต.อ่าวน้อย อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่หลังได้จับมือกับเพื่อนบ้านร่วมกันค้นหาวิธีลดต้นทุนการผลิตได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพ โดยได้รับการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์ ทำให้ชีวิตในวันนี้กลับมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
สายฟ้า เล่าว่า ตนเองมีอาชีพปลูกผักขายมานานกว่า 7 ปีแล้ว เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกในพื้นที่นี้ก็ว่าได้ โดยสมัยก่อนก็ปลูกแบบทั่วๆ ไป ต่างคนต่างทำ และมักจะนิยมการใช้ปุ๋ยเคมีจำนวนมาก เพราะจะช่วยให้ผักเจริญงอกงามได้เร็วทันตา แต่ก็เป็นเพียงผลในระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยที่หารู้ไม่ว่าผลเสียที่กำลังตามมาก็คือ ปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรม ซึ่งจะส่งผลเสียต่อการเพาะปลูกในระยะยาว โดยเฉพาะปัจจุบันปุ๋ยและสารเคมีมีราคาแพง ยิ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างมาก
จากนั้นในปี 2551 ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนได้ข้อสรุปว่าจะช่วยกันทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ และน้ำส้มควันไม้ไว้ใช้ในกลุ่มเพื่อลดหรือทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี โดยได้รับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินประจวบคีรีขันธ์และหมอดินอาสาใกล้บ้านช่วยแนะนำหรือประสานงานกับสถานีพัฒนาที่ดินในจังหวัด
"เมื่อมีความรู้เรื่องการทำเกษตรโดยพึ่งพาสารอินทรีย์มากพอ ก็เริ่มที่จะนำมาใช้ในแปลงผักของตัวเองบนเนื้อที่ 5 ไร่เศษ มีผักปลูกหลายชนิด ได้แก่ ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี มะระจีน ถั่วฝักยาว และผักชี สลับหมุนเวียนกันไป โดยแบ่งพื้นที่การเพาะปลูกผักแต่ละชนิดประมาณ 1 ไร่"
สายฟ้า อธิบายถึงขั้นตอนการปลูกผัก โดยยกตัวอย่างผักกาดขาวปลีจะเริ่มตั้งแต่การเตรียมดิน โดยไถและคราดดิน แล้วตากดินไว้ 5-7 วัน จากนั้นนำปุ๋ยหมักมาหว่านอย่างน้อยไร่ละ 1 ตัน แต่ถ้าจะให้ได้ผลดีต้องหว่านถึง 3 ตัน หลังจากเตรียมพื้นที่เสร็จแล้วนำน้ำหมักชีวภาพปริมาณ 5 ลิตร ผสมกับน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นลงบนพื้นที่ได้ 1 ไร่ แล้วจึงเริ่มหว่านหรือหยอดเมล็ดผัก ซึ่งผักกาดขาวปลีเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากและสม่ำเสมอ เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตตลอดฤดูการปลูก ดังนั้นควรให้น้ำอย่างเพียงพอโดยเฉพาะในช่วงเข้าปลี
ส่วนเรื่องโรคและแมลง มักจะพบการระบาดมากในช่วงหน้าแล้ง ทั้งผีเสื้อหนอนใยผัก แมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ จะใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นทุกๆ 7 วัน เพื่อช่วยขับไล่แมลงและป้องกันการเกิดเชื้อรา แต่ถ้าเอาไม่อยู่ก็จำเป็นต้องใช้สารเคมีเข้าช่วยบ้าง ดังนั้นในส่วนของสารเคมีก็จะลดปริมาณการใช้ได้มากถึง 70% นอกจากนี้ยังเสริมด้วยการฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพอีกทางหนึ่ง
หลังปลูกผักกาดขาวปลีได้ 1 เดือนครึ่ง จึงจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ และจะเก็บได้นานถึงครึ่งเดือนจึงจะหมดรุ่น โดยมีผลผลิตรวมเฉลี่ยประมาณ 3,000-4,000 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ราคาจำหน่ายปัจจุบันสนนกิโลกรัมละ 4-5 บาท
แต่ปัญหาสำคัญที่สุดคือเรื่องตลาด โดยสายฟ้าบอกว่า ตอนนี้ถือว่าตนและสมาชิกในกลุ่มยังเป็นรองพ่อค้าคนกลาง ซึ่งพวกเราไม่สามารถเลือกตลาดจำหน่ายผลผลิตเองได้ เนื่องจากความห่างไกลจากตลาดและแหล่งชุมชน แต่ก็ยังโชคดีที่พวกเรามีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ทำให้พอมีกำไรเหลือเก็บอยู่บ้าง รวมถึงยังมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ส่วนเกษตรกรที่สนใจแนวทางการปลูกผักที่สามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้และปลอดภัยต่อผู้ผลิตผู้บริโภค และเป็นที่ต้องการของตลาดอย่าง สายฟ้า แก้วมรกฏ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่โทร.08-7058-9350 ตลอดเวลา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101007/75516/รวมกลุ่มปลูกผักอินทรีย์ทำเงินทางลดต้นทุนเกษตรกรอ่าวน้อย.html