เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 53
ที่ผ่านมาชาวไทยรู้จัก 'พืชจีเอ็ม' หรือ 'พืชดัดแปลงพันธุกรรม' ผ่านการให้ข้อมูลของเอ็นจีโอในสถานะ "พืชผีดิบ" ที่อาจก่ออันตรายต่อทั้งสภาพแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค
ล่าสุด ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) จัดเสวนา "จับกระแสพืชจีเอ็ม ความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยที่น่าจับตา" เพื่อให้ข้อมูลอีกด้านผ่านนานาทรรศนะของนักวิชาการฝ่ายสนับสนุนและหลากหลายผลวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นักวิจัยจากหน่วยบริหารจัดการความรู้ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า
ในอีก 40 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่มจาก 6.3 พันล้านคนเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่แน่นอน เพราะอัตราการผลิตอาหารและพลังงานนับวันมีแต่จะลดน้อยถอยลง ดังนั้น ประเทศไทยในฐานะที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและมีศักยภาพเป็น 'ครัวของโลก' ได้ ควรเปิดรับวิทยาการแบบใหม่ๆ เพื่อเพิ่มพูนผลผลิตและคุณภาพของสินค้าเกษตร
"ปัญหาหลักที่เกษตรกรเจอ คือโรคและศัตรูพืช การลดลงของพื้นที่เพาะปลูก คุณภาพดินเสื่อมโทรมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาวะโลกร้อน ดังนั้น เราจึงควรเปิดรับเทคโนโลยีการผสมและคัดพันธุ์ รวมทั้งการดัดแปลงพันธุกรรม หรือ พืชจีเอ็ม" ดร.บุญญานาถ กล่าว
ดร.บุญญานาถ เผยข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการวิจัยพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งเป็นความลับและโจ่งแจ้ง เช่น ประเทศแถบยุโรปซึ่งเคยต่อต้านพืชจีเอ็ม แต่กลับเตรียมตัวด้านงานวิจัยมหาศาล ตัวอย่าง อาทิ เบลเยียมมีการทดสอบภาคสนาม 133 ครั้ง เยอรมนี 178 ครั้ง สเปน 436 ครั้ง และทุกวันนี้ 25 ชาติใช้พืชจีเอ็มในชีวิตประจำวัน เช่น สเปน บราซิล อาร์เจนตินา เม็กซิโก สหรัฐ แคนาดา ออสเตรเลีย อียิปต์ แอฟริกาใต้ จีน อินเดีย และฟิลิปปินส์
ส่วนประเทศไทย การวิจัยพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรมเน้นหนักไปที่การพัฒนาความสามารถในการต้านทานโรค และการเสริมสร้างลักษณะที่ดีของผลผลิต ได้แก่
การพัฒนา 'มะละกอดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานโรคไวรัสใบด่างจุดวงแหวน' แต่หลังวิจัยแล้วกลับยังไม่อนุญาตให้ปลูกพืช จีเอ็มเพื่อการค้า เพราะเสียงต่อต้านทั้งจากในและนอกประเทศ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องน่าคิดเพราะปัจจุบันไทยก็นำเข้าข้าวโพดและถั่วเหลืองจีเอ็มจากต่างประเทศ
ในแง่มุมเรื่องความปลอดภัย ผศ.ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า
พืชจีเอ็มช่วยลดปริมาณการใช้ยาฆ่าแมลง โดยระหว่างปี พ.ศ.2539-2550 พืชจีเอ็มช่วยลดสารเคมีทั่วโลกลงถึงร้อยละ 8.8 หรือ 359 ล้านกิโลกรัม และทำให้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลงร้อยละ 17.2
"นับแต่ทั่วโลกทำวิจัยพืชจีเอ็มนานนับสิบปี ยังไม่เคยปรากฏผลเสียจากการบริโภคพืช จีเอ็มเลยแม้แต่ครั้งเดียว" ผศ.ดร.เจษฎา กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 7 ตุลาคม 2553
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROMFpXTXdNakEzTVRBMU13PT0=§ionid=TURNeU5nPT0=&day=TWpBeE1DMHhNQzB3Tnc9PQ==