เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 53
การพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำและการป้องกันและบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นภารกิจหลักของกรมชลประทาน จากปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของน้ำเป็นผลให้กรมชลประทานต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำของโครงการชลประทานเพิ่มมากขึ้น
โดยได้ส่งเสริมให้มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานขึ้นมา เมื่อมีความเข้มแข็ง ก็ยกระดับขึ้นมาเป็นกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน สมาคมผู้ใช้น้ำชลประทานและสหกรณ์ผู้ใช้น้ำชลประทาน ตามลำดับ ซึ่งประเภทองค์กรเหล่านี้เรียกรวมกันว่า องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน
องค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานเป็นองค์กรตัวแทนของเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการใน รูปของคณะกรรมการที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการน้ำ เช่น เป็นศูนย์รวมของเกษตรกรผู้ใช้น้ำในการประสานงานระหว่างผู้ใช้น้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมชลประทาน และส่วนราชการอื่น ๆ ดำเนินการควบคุมการส่งน้ำและบำรุงรักษาในคลองส่งน้ำ และคูส่งน้ำให้ปฏิบัติตามข้อตกลงการส่งน้ำและระเบียบข้อบังคับขององค์กรตลอด จนดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา อันเกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม การผลิตและการตลาด
ในปัจจุบันโครงการชลประทานทั่วประเทศในเขตสำนักชลประทานทั้ง 17 สำนัก มีกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานแล้ว 43,048 กลุ่ม กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 1,319 กลุ่ม สมาคมผู้ใช้น้ำชลประทาน 35 สมาคม และสหกรณ์ผู้ใช้น้ำชลประทาน 45 สหกรณ์
ในการส่งเสริมการบริหารจัดการของคณะกรรมการขององค์กรผู้ใช้น้ำชลประทาน ที่เป็นเลิศและเพื่อเป็นแบบอย่างให้กับองค์กร ผู้ใช้น้ำชลประทานอื่น ๆ ยึดถือปฏิบัติตาม จึงได้มีนโยบายคัดเลือกองค์กรผู้ใช้น้ำชลประทานที่มีกิจกรรมดีเด่น เป็นสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นแห่งชาติ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ดำเนินการคัดเลือก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา และเข้ารับพระราชทานโล่รางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นแห่งชาติจากพระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวงเป็นประจำทุกปี
นายมนัส กำเนิดมณี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรมชลประทาน กล่าวว่า รางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นแห่งชาติ ในปีก่อน ๆ ใช้วิธีการคัดเลือกโดยคณะกรรมการของกรมชลประทาน ในระดับสำนักชลประทาน ระดับภาคและระดับประเทศ ทำให้ที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้น้ำไม่เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ในปีนี้กรมชลประทานจึงได้วางแนวทางการคัดเลือกกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่นรูปแบบ ใหม่ขึ้น
โดยจะมีการสร้างโครงข่ายเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวทางการบริหารจัดการน้ำซึ่งกันและกัน ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ในหลักสูตร “กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ” ซึ่งหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ มุ่งให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องระบบบริหารจัดการน้ำของแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ตัวแทนทั้ง 17 กลุ่ม จะต้องมีการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงาน แนวทางการบริหารจัดการน้ำภายในกลุ่มตนเอง นำเสนอรายละเอียดในหัวข้อต่าง ๆ เช่น ความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการ บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิก ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงกิจกรรมสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้คณะอนุกรรมการและกลุ่มผู้ใช้น้ำ อื่น ๆ ได้ร่วมชม
สำหรับเกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเด่นที่ได้รับรางวัล กรมชลประทานจะมอบเงินทุนเพื่อนำไปใช้บริหารและการจัดการภายในกลุ่ม แบ่งเป็น 3 รางวัล ได้แก่ รางวัลสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำดีเด่นแห่งชาติ ลำดับที่ 1 จะได้รับเงินทุน 100,000 บาท ลำดับที่ 2 จะได้รับเงินทุน 70,000 บาท และลำดับที่ 3 ได้รับเงินทุน 50,000 บาท ตามลำดับ
“การจัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการให้กลุ่มผู้ใช้น้ำได้มีการแลกเปลี่ยนและ เรียนรู้ระบบการทำงานซึ่งกันและกัน จะทำให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้หรือแก้ไขปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำภายในกลุ่มของตนเอง ทำให้สถาบันกลุ่มผู้ใช้น้ำมีการพัฒนาการจัดการภายในให้เป็นระบบ ดูแลการจัดสรรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งรูปแบบการคัดเลือกแนวใหม่นี้ จะเป็นการเปิดกว้าง สร้างวิสัยทัศน์ให้เกษตรกรกลุ่มผู้ใช้น้ำเกิดความเข้าใจ ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบได้ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งเกิดการยอมรับในความโดดเด่น ความสามารถ ความเหมาะสมและให้การยอมรับกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำที่จะได้รับรางวัลในอนาคตอีกด้วย” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=340&contentID=96703