เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 53
จังหวัดเพชรบุรี นอกจากโด่งดังด้านขนมหม้อแกงแล้ว ยังขึ้นชื่อเรื่อง กล้วยหอมทอง ส่งออก แต่ละปีทำรายได้สร้างเม็ดเงินกลับคืนสู่ประเทศนับล้านๆบาท ชาวบ้านที่หันมาปลูกผลไม้ชนิดนี้หลายรายฐานะความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น อย่าง นางสาวจิราพร พิมพ์สุตะ เกษตรกรบ้านเลขที่ 278 หมู่ 1 ตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
นางสาวจิราพร บอกว่า ในช่วงประมาณปี 2519 บิดาได้รับคัดเลือกให้พาครอบครัวเข้ามาทำกินในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) แบ่งปลูกบ้าน ทำบ่อน้ำ เลี้ยงวัว พร้อมกับฟื้นฟูสภาพดินทั้งปลูกถั่วพร้า ใส่มูลวัว ปลูกพืชผัก อาทิ ใบมินต์เพื่อสกัดจำหน่าย ต้นยูคา สับปะรด อ้อย มะม่วง แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
ต่อมาทาง สำนักงานเกษตรอำเภอหนองหญ้าปล้อง ได้เข้ามาส่งเสริมการปลูก "กล้วยหอมทอง" โดยให้เกษตรกรรวบรวมสมาชิกทั้งอำเภอหนองหญ้าปล้องเข้าร่วมโครงการ 15 ราย โดย ผลผลิตจะส่งสหกรณ์ท่ายางเป็นผู้รวบรวมส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลักเกณฑ์ สำคัญในการปลูกคือ "ห้ามใช้สารเคมี" หลังตัดสินใจเข้าร่วมโครงการจึง "โค่น" ต้นมะม่วงออก แล้ว ลงหน่อกล้วย ช่วงแรกพบปัญหาค่อนข้างมาก หน่อพันธุ์ที่ปลูกเกิดโรคหนอนกอระบาด ตายเกือบ 200 ต้น จึงขอคำปรึกษากับทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมที่แนะนำให้ใช้สารชีวภาพ "บีที" โดยซื้อหัวเชื้อแล้วมาขยายเชื้อฉีดพ่น 3 เดือน สามารถกำจัดหนอนกอระบาดให้หมดไปได้
สำหรับการจัดการภายในสวนเพื่อให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพ นั้น จิราพรบอกว่า จะให้น้ำทุก 7 วัน แต่งใบ ตัดหญ้าทุกเดือนให้แดดเข้าถึง ป้องกันปัญหาโรคใบไหม้ ใบจุด ซื้อปุ๋ยจากสหกรณ์ซึ่งต้องผ่านการตรวจรับรองจากบริษัทผู้รับซื้อผลผลิตจากทางประเทศญี่ปุ่นว่าสามารถใช้ได้ ราคาค่อนข้างสูงมาบำรุงเพิ่มผลผลิตทำให้การลงทุนค่อนข้างสูง จึงปรับเปลี่ยนมาทำ ฮอร์โมนรกหมู ใช้เอง โดยขั้นตอนวิธีการเริ่มจาก ใช้สาร พ.ด.2 อัตรา 1 ซอง ผสมกับรกหมู 60 กก. น้ำ 100 ลิตร ใส่ ผลไม้ อาทิ กล้วยหอมที่เน่าเสียหรือสับปะรด หมักทิ้งไว้ประมาณ 6 เดือน จึงพร้อมใช้งาน และ หากนำหัวเชื้อไปใช้ ฉีดพ่นเร็วเกิน จุลินทรีย์ที่ยังสลายไม่หมดจะกลายเป็นแหล่งก่อเชื้อรา หรือ อาจทำให้ใบไหม้ ได้
"เพราะความเป็นคนที่ชอบเรียนและต้องรู้ผลถึงความแตกต่าง จึงแบ่งพื้นที่ครึ่งหนึ่งสำหรับใช้ฮอร์-โมนรกหมู แล้วเปรียบเทียบถึงความแตกต่างกับแปลงที่ไม่ใช้ หลังจากหนึ่งรอบของการเก็บผลผลิต สังเกตเห็นว่า แปลงที่ใช้กล้วยจะออกเครือประมาณ 20 ต้น จาก 25 ต้น ส่วน แปลงที่ไม่ฉีดฮอร์โมนจะออกเครือเพียง 12-13 ต้นจาก 25 ต้น นอกจากนี้ ผลผลิตยังออกไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้มีปัญหาเก็บผลผลิตหลงค้าง"
จิราพรบอกต่อว่า การใช้ฮอร์โมนรกหมู นอกจากช่วยให้ผลผลิตออกเกือบทุกต้นแล้ว ยังออกเกือบพร้อมเพรียงกัน ทำให้ประหยัดเวลา แรงงานในการเก็บผลิตผลออกจากแปลงเมื่อตัดเครือออก จะคัดหน่อไว้แต่ละกอ 1-2 หน่อ ให้ระยะห่างพอประมาณ ป้องกันเวลาที่ "กล้วยออกลูก" จะได้เรียงสวยงามไม่ชี้แยกทิศ โดยขนาดผลที่ส่งออกความยาวของผลอยู่ที่ 16 เซนติเมตร ตำหนิขนาดวงไม่ควรใหญ่เกินเหรียญบาท ถ้ามากกว่านี้จะคัดออกแล้วขายในบ้านเรา
นับว่าเป็นการวิจัยด้วยภูมิปัญญาที่คิดค้น เปรียบเทียบความต่างโดยวิถีชาวบ้าน และสำหรับเกษตรกรรายใดที่สนใจเรียนรู้ระบบการจัดการ สามารถกริ๊งกร๊างสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-5294-2295.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 11 ตุลาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/117749