เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 53
ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เพราะกลัวอันตรายสารตกค้างจากสารเคมีและยาปราบศัตรูพืช ที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางการแพทย์ การเกษตรและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลตกค้างในดิน แหล่งน้ำ ผลิตผล ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ และค่าใช้จ่ายในการซื้อผลผลิตที่มีราคาแพง การจัดการเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของดินและการเจริญเติบโตที่ดีของพืชอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ
วิธีบำรุงดินที่มีประสิทธิภาพสามารถทำได้หลายวิธี และสามารถช่วยลดผลกระทบจากการใช้สารเคมีสังเคราะห์ดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน แต่การเพิ่มความแข็งแรงให้พืชโดยใช้จุลินทรีย์กลุ่มไรโซเบียมและหัวเชื้อจากรามายคอร์ไรซา รวมทั้งการใช้จุลินทรีย์สร้างสารเร่งการเจริญของพืช ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายในกลุ่มเกษตรกรมากนัก เนื่องจากยังไม่มีการทำความเข้าใจโดยเฉพาะกลไกความสัมพันธ์ของพืชและจุลินทรีย์ซึ่งมีอยู่แล้วในธรรมชาติแต่ถูกทำลายด้วยวิธีการทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้การตอบสนองของพืชต่อมายคอร์ไรซาก็มีความแตกต่างกันทั้งชนิดของพืชเองและชนิดของมายคอร์ไรซา
ศ.ดร.สายสมร ลำยอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ในประเทศไทยมีการนำเข้ามายคอร์ไรซามาจำหน่ายหลายบริษัท แต่ก็มีราคาแพงมาก เช่น เอนโดมายคอร์ไรซาที่ใช้กับกล้าส้ม กล้าสน และพืชผัก ราคากิโลกรัมละ 1,200 บาท จากการสำรวจพบว่ามีความต้องการใช้มายคอร์ไรซากับพืชเศรษฐกิจหลายชนิดมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องราคาและไม่สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์มายคอร์ไรซาที่แน่นอนได้ จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาการนำไปใช้ในทางปฏิบัติต่อไป
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ ศ.ดร.สายสมร และคณะ ในโครงการ “การพัฒนามายคอร์ไรซาเพื่อเกษตรอินทรีย์” โดยคณะวิจัยได้สำรวจความหลากหลายของเชื้อราอาร์คูบัสคูลาร์มายคอร์ไรซากับสบู่ดำ ในพื้นที่ 6 จังหวัดของไทย รวมทั้งศึกษาเชื้อดังกล่าวกับกาแฟอราบิก้าใน จ.เชียงใหม่ และเชียงราย พบว่าพืชมีการเจริญเติบโตดีมาก นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณสปอร์ในกระถางโดยใช้ดินเป็นหัวเชื้อ มีข้าวโพด ข้าวฟ่าง และดาวเรืองเป็นพืชอาศัย พบว่าสามารถเพิ่มปริมาณสปอร์ได้ดีเช่นเดียวกัน
"คณะวิจัยยังได้ตรวจเปอร์เซ็นต์การเข้ารากพืชของมายคอร์ไรซา 5 สกุล ในถั่วพุ่ม ข้าวโพด ลูกเดือย ข้าวไร่ ข้าวฟ่าง และต้นปะดะ พบว่ามีการติดเชื้อในรากสูงยกเว้นข้าวไร่ อีกทั้งได้สำรวจความหลากหลายของเชื้อดังกล่าวและความสัมพันธ์ที่มีต่อพืชท้องถิ่นในป่าเขตร้อนของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพและดอยปุย พบว่าพืชพื้นเมือง 24 ชนิดมีความสัมพันธ์กับเชื้อดังกล่าว และเชื้อบางชนิดสามารถอาศัยร่วมกับพืชได้หลายชนิด" ศ.ดร.สายสมร แจง
ศ.ดร.สายสมร กล่าวว่า ขณะนี้มีบริษัทเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจเชื้อรามายคอร์ไรซา และขอให้คณะวิจัยเพิ่มปริมาณการผลิตหัวเชื้อเพื่อนำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตปุ๋ยชีวภาพต่อไป นอกจากนี้ยังมีอีกหลายรายติดต่อให้คณะวิจัยผลิตหัวเชื้อและถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีปลูกเชื้อเพื่อนำไปเพาะต้นกล้า โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ ต้นสักทอง ยางพารา กฤษณา รวมทั้งผลิตหัวเชื้อเพื่อจำหน่ายแก่เกษตรกรต่อไป จึงนับเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจเชื้อราอาร์บัสคูลาร์มายคอร์ไรซาในพืช ติดต่อสอบถามได้ที่ ศ.ดร.สายสมร ลำยอง ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200 โทร. 0-5394-1947 ต่อ 144 หรือ 0-5394-3346-8 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 12 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101012/75955/มายคอร์ไรซาเชื้อราช่วยเกษตรกรลดต้นทุนพืชโตเร็วมีประสทิธภาพ.html