เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 53
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กำหนดแผนการขับเคลื่อนงานให้สอดรับกับนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเกษตร ของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้วิสัยทัศน์ที่ว่า “เป็นองค์กรนำด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารสู่ระดับสากล” เพื่อสร้างศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้สินค้าเกษตรและอาหาร ของไทยในเวทีการค้าโลก
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ ผู้อำนวยการ มกอช. กล่าวว่า ปี 2554 นี้ มกอช. มีเป้าหมายในการดำเนินงานตามภารกิจหลักไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานสินค้า เกษตรและอาหาร การพัฒนาระบบตรวจรับรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล พร้อมควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ และเฝ้าระวังความปลอดภัยทางอาหาร รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้มีการปฏิบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551
ขณะเดียวกันยังจะประสานงานและผลักดันการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านเทคนิค เพื่อป้องกันมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี อาทิ มาตรการสุขอนามัยและสุข อนามัยพืช (SPS) และกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งเรื่องความปลอดภัยอาหาร ซึ่งเรื่องสำคัญที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปี 2553 คือ การเปิดเส้นทางขนส่งทางบกส่งออกผลไม้ผ่านแดนไทย-จีน R3 ซึ่งเจรจาได้ข้อยุติแล้วและจะได้เตรียมการขั้นตอนตามกฎหมายก่อนลงนามและมีผล บังคับใช้รวมทั้งการส่งมอบผลไม้ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ Q เพื่อใช้เป็นของขวัญให้กับผู้แทนประเทศต่าง ๆ และแขกผู้มีเกียรติในงานพิธีเปิดกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 16 ที่นครกวางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเดือนพฤศจิกายน 2553 นี้
ขณะเดียวกัน มกอช. ยังมีแผนขยายความร่วมมือด้านการเทียบเคียงระบบมาตรฐานและการรับรองของไทยกับ ต่างประเทศเพิ่มเติม เช่น เทียบเคียงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทยกับมาตรฐาน NOP ของสหรัฐอเมริกา และมาตรฐาน CNCA ของจีน และขณะนี้ได้รับการยอมรับด้านการรับรองระบบงานในสาขารับรองผลิตภัณฑ์ กับองค์กรรับรองระบบงานระหว่างประเทศ (IAF) ซึ่งมีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศ และยังมีแผนบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและ อาหาร (ปี 2553-2556) ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วด้วย
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย กล่าวด้วยว่า มกอช.ยังมีแผน ส่งเสริมให้เกษตรกรทั่วประ เทศเข้าสู่ระบบมาตรฐานเพิ่มขึ้น โดยจะเร่งพัฒนาระบบการรับรองฟาร์มมาตรฐานแบบกลุ่มเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร รายย่อยได้เข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน เพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรนำไปใช้แพร่หลายมากขึ้น และยังมีแผนจัดระบบเฝ้าระวังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมมาตรฐาน โดยจัดทำโครงการระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยของอาหารของไทยและอาเซียน และมีการจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่เหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ด้วย
นอกจากนี้ มกอช.มีแผนขยายผล และสานต่อโครงการ Q อาสา จัดทำโครงการ นำร่องยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารครบวงจรเฉพาะพื้นที่ และเร่งเผยแพร่กฎระเบียบของประเทศคู่ค้าให้ผู้ประกอบการรับทราบ โดยใช้ระบบเตือนภัยล่วงหน้าสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อจะได้ปรับตัวให้สอดรับกับเงื่อนไขการนำเข้า
คาดว่าจากมาตรการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาระบบการผลิตสินค้าเกษตรของไทยให้ได้ มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก ซึ่งจะเป็นจุดแข็งช่วยผลักดันการส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มสูงขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=97620