เมื่อวันที่ 25 มกราคม 53
ทีมวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.เกษตรฯ คิดค้นวิธีการต้านทานโรค "ไวรัสยอดบิด" ด้วยการสร้างพันธุ์กล้วยไม้ "หวายโซเนียเอียสกุล"
ประเทศไทยมีการส่งกล้วยไม้ประเภทตัดดอกเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยผลผลิตส่วนใหญ่จะมุ่งไปยังตลาดในแถบทวีปยุโรป และแม้ที่ผ่านมาทางกลุ่มเกษตรกร ผู้ส่งออกจะพยายามพัฒนาผลิตผลให้มีคุณภาพสูงตรงตามความต้องการลูกค้าเพียงใด แต่บางครั้งก็อาจมีปัญหาในเรื่องโรค โดยเฉพาะ "ไวรัสยอดบิด" เกิดขึ้นได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว รองศาสตราจารย์ ดร.พัฒนา ศรีฟ้า ฮุนเนอร์ และ นางสาวอัญชลี ชูพร้อม ภาควิชาพันธุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ จึงได้ทำการวิจัย "กล้วยไม้หวายต้านทานไวรัส" ขึ้น
รศ.ดร.พัฒนา บอกว่า ปัญหาที่กลุ่มผู้ส่งออก กล้วยไม้ทั่วโลกพบมาโดยตลอดก็คือโรค "ไวรัสยอดบิด" Cymbidium mosic virus (CyMV) ที่อาศัยอยู่ทุกส่วนของเนื้อเยื่อพืช รวมไปถึงปลายยอดสุดของเซลล์ที่กำลังจะแบ่งตัว หากเกิดขึ้นแล้ว การกำจัดมีวิธีเดียวก็คือ "เก็บเผาทำลาย" เพราะเชื้อสามารถอยู่ได้นานนับ 10 ปี ส่วนภาชนะที่ใช้ต้องทำความสะอาดฆ่าเชื้อ
การแก้ปัญหาที่ผ่านมานั้น แม้เกษตรกรจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ด เพาะกล้าด้วยวิธี "เขย่า" แต่ก็ไม่สามารถหลีกหนีเชื้อดังกล่าวได้
ฉะนี้ ทีมวิจัยจึงได้ คิดค้นวิธีการต้านทานโรค ด้วยการสร้างพันธุ์กล้วยไม้ "หวายโซเนียเอียสกุล" ขึ้น แบบวิธีการทำลายอาร์เอ็นเอจีโนมของไวรัสในส่วนยีน ที่กำหนดการสร้างโปรตีนหุ้มอนุภาคไวรัส (CyMV-CP) เข้าทำลายกล้วยไม้ โดยการถ่ายยีน CyMV-CP ซึ่งออกแบบพิเศษให้มีสองโมเลกุลอยู่ คู่กัน ให้เกิดการแสดงออกแบบ Over-expression เพื่อเข้ากระบวนการ RNA ในการปกป้องตัวเอง
สำหรับแนวทางการวิจัยเริ่มแรกใช้วิธี "โคลนยีน" ไปพร้อมกับศึกษายีนไวรัสของประเทศไทยทั้งหมด แล้วนำยีนที่โคลนไว้มาตัดแต่ง ต้นที่เป็นโรค เสมือนว่าเราสร้าง "วัคซีน" หรือ "ภูมิคุ้มกัน" ให้กล้วยไม้ ด้วยวิธีตัดต่อยีน CyMV-CP รูปแบบ sense จำนวนหนึ่งหรือสองโมเลกุลเข้ากับเวกเตอร์พืช pJ35SN ที่ประกอบด้วยโปรโมเตอร์ (CaMV35S) และเทอร์มิเนเตอร์ (NOS) ได้โคลนชื่อ pCB2 ขนาด 4.4 กิโลเบส และ pCB199 ขนาด 4.8 กิโลเบส
เสร็จแล้วนำพลาสมิด pCB2 และ pCB199 มาถ่ายยีนร่วมกับพลาสมิด pMNK1005 (pUbi-1:hgh::gfp: NOS) ที่มียีนคัดเลือก ไฮโกรมัยซิน ด้วยวิธีการ ยิงอนุภาค เข้า Plbs ของกล้วยไม้หวายโซเนียเอียสกุลที่เป็นโรคไวรัสยอดบิด จากนั้นทำการคัดเลือกบนอาหาร MS เติม ไฮโกรมัยซิน ความเข้มข้น 25 mg/L
หลังถ่ายยีน 5 เดือน ทำการสุ่มเลือกกล้วยไม้ จากแปลงพันธุ์จำนวน 20 โคลน มาตรวจสอบด้วยวิธี "พีซีอาร์" ให้ผลว่าไวรัสในกล้วยไม้คัดแปรพันธุกรรมที่ผลิตได้มีปริมาณลดลงเรื่อยๆ กระทั่งตรวจไม่พบไวรัสยอดบิดทั้งในระดับ กรดนิวคลีอิค โปรตีน และ อนุภาคไวรัส แม้แต่ในกล้วยไม้ที่นำไปขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ
ผลงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษาสำหรับเตรียมความพร้อมและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้เกษตรกร ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อวงการกล้วยไม้ทุกสายพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรค ให้สามารถรักษาลักษณะที่ดีของสายพันธุ์เดิมไว้ เพียงแต่นับวันรอว่า เมื่อใดมีการเปิดกว้างให้พืชตัดต่อพันธุกรรมสามารถส่งออกได้เท่านั้นเอง
สำหรับงานวิจัยดังกล่าวได้รับรางวัลระดับดี ผลงานประดิษฐ์คิดค้นด้านเกษตรศาสตร์และอุตสาหกรรมการเกษตร จาก สนง.คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 53 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-5 ก.พ.2553 ณ อิมแพค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 มกราคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/60839