เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 53
ถ้าจะพูดถึงฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เชื่อว่าหลายคนคงติดภาพความสกปรก และกลิ่นเหม็นอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ทำให้น้อยคนนักที่อยากจะเข้าไปดูหรือไม่แม้แต่จะอยู่ใกล้ แต่แปลกที่ภาพที่ว่ามานี้ กลับไม่มีให้เห็นใน ฟาร์มหมูพันธุ์กาญจนบุรี อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจน บุรี ซึ่งที่ฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงหมูมากกว่า 3,000 ตัว แต่กลับไม่มีกลิ่นเหม็นกวนใจ เหมือนอย่างที่เคยชินกับฟาร์มหมูทั่วไป ที่แค่ผ่านก็รู้ว่าต้องเป็นฟาร์มเลี้ยงหมู
การดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็นนโยบายหลักและเป็นแนวคิดการทำฟาร์มกาญจนบุรีแห่งนี้ให้เป็น “กรีนฟาร์ม” ที่เน้นการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน และใส่ใจชุมชนรอบข้าง ที่นี่ใช้ระบบโรงเรือนปิด หรือ EVAP เพื่อช่วยลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศ และเลือกใช้ไบโอแก๊สระบบบ่อหมักแบบพลาสติกคลุมบ่อ หรือ Cover Lagoon ซึ่งเป็นระบบปิดทั้งหมด จึงตัดโอกาสที่จะเกิดกลิ่นออกจากระบบและแมลงวันที่จะไปรบกวนชุมชน และยังสามารถผลิตไฟฟ้าใช้ในฟาร์มได้ด้วย สำหรับน้ำที่ออกจากระบบไบโอแก๊ส ก็จะมีระบบที่มีประสิทธิภาพสูงมาใช้บำบัด ซึ่งทางฟาร์มมีนโยบายที่จะไม่ปล่อยน้ำหลังการบำบัดออกไปภายนอก ถึงแม้จะผ่านมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษแล้วก็ตาม โดยจะนำกลับมาใช้รดต้นไม้ และบางส่วนจะปรับสภาพและฆ่าเชื้อจนสะอาดสำหรับใช้ล้างทำความสะอาดโรงเรือน ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด
โครงการไบโอแก๊สคือกลไกที่สะอาด นับว่าเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ซึ่งเป็น สาเหตุของปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แม้ระบบการเลี้ยงและระบบบำบัดที่ใช้จะมีประสิทธิภาพดีเพียงใด แต่ก็ยังกังวลว่าจะมีกลิ่นที่ออกจากโรงเรือนหลงเหลืออยู่ ที่ฟาร์มแห่งนี้จึงพัฒนา ระบบฟอกอากาศ มาช่วยลดกลิ่นเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีกลิ่นรบกวนชุมชน โดยติดตั้งระบบดังกล่าวไว้ด้านหลังพัดลมระบายอากาศที่ท้ายโรงเรือน ด้วยวิธีการลดกลิ่น 3 ขั้นตอน เริ่มจากการใช้น้ำช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศให้น้อยลง จากนั้นจะใช้กรดอ่อนดักจับกลิ่นที่เหลืออยู่ แล้วจึงใช้วัสดุธรรมชาติที่สามารถดักจับกลิ่นได้ดี เช่นกาบมะพร้าว ในชั้นสุดท้าย พบว่าระบบนี้สามารถลดกลิ่นเหม็นและกลิ่นแก๊สแอมโมเนียได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ภายในฟาร์มและชุมชนรอบข้างมีสภาพแวดล้อมที่ดี และช่วยลดปัญหาได้อย่างแท้จริง
การนำระบบฟอกอากาศมาใช้แก้ปัญหาเรื่องกลิ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าเป็นระบบที่ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นวิธีการที่ไม่ก่อผลกระทบกับชุมชนและสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
หากทุกภาคส่วนหันมาตระหนักถึงความสำคัญของสังคมและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกันนี้ ธรรมชาติที่สมบูรณ์ในสังคมที่เปี่ยมความสุข คงไม่เป็นเพียงแค่จินตนาการอีกต่อไป.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 13 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=659&contentID=97619