เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 53
จากกรณีของลำไยมีอาการผลแตกมักจะเกิดในช่วงที่ผลลำไยกำลังสร้างเนื้อหรือผลใกล้จะแก่ เช่นในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ลำไยที่ประสบปัญหาผลแตกมักจะเป็นลำไยที่ติดผลดก มีลูกขนาดเล็ก และเปลือกมีขนาดบาง โดยมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำที่ได้รับไม่สม่ำเสมอในช่วงที่ผลกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในช่วงสร้างเนื้อหรือผลใกล้แก่
ผศ.พาวิน มะโนชัย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านลำไย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เผยว่า อาการผลแตก หรือ fruit cracking เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวของส่วนเนื้อและส่วนเปลือก โดยส่วนของเนื้อมีลักษณะเป็นเซลล์อ่อนนุ่ม (spongy parenchyma) ซึ่งมีความสามารถในการยืดหดตัวได้สูง ในขณะที่เปลือกมีความยืดหยุ่นตัวต่ำกว่า ดังนั้นในกรณีที่ส่วนของเนื้อผลมีการขยายปริมาตรอย่างรวดเร็ว แรงดันที่เกิดจากการขยายตัวของเนื้อผลสามารถทำให้เปลือกผลแตกได้
หากลำไยไม่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้เกิดอาการผลแตกได้ง่าย เช่น ลำไยที่กระทบแล้ง ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ประกอบกับอุณหภูมิในช่วงดังกล่าวร้อนจัด เช่น 40 องศาเซลเซียส ทำให้ลำไยมีการคายน้ำมาก จึงต้องการน้ำในปริมาณมากไปชดเชย หากได้รับน้ำไม่เพียงพอทำให้ผลลำไยเจริญเติบโตช้า เมื่อลำไยกระทบฝนโดยเฉพาะฝนแรกในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปริมาณน้ำที่ได้รับมีมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา เนื้อของผลจะขยายขนาดได้เร็วกว่าเปลือกเนื่องจากลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ทำให้เปลือกผลแสดงอาการแตกและร่วงอย่างเห็นได้ชัด
"ฤดูกาลผลิตลำไยปี 2553 ก็ประสบกับปัญหาลำไยผลแตกเป็นจำนวนมากและปีนี้ผลลำไยแตกมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา จากการสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตลำไยจำนวนรวม 266 รายในเขตของ จ.เชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยลัยแม่โจ้ ก็ปรากฏว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ให้ข้อมูลเชื่อว่าปีนี้ราคาผลผลิตลำไยจะตกต่ำประกอบกับผลผลิตไม่ได้คุณภาพ สาเหตุมาจากผลมีขนาดเล็กและแตก"
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านลำไยคนเดิมระบุอีกว่า จากข้อมูลปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จากสถานีวัดอากาศของศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่แปลงลำไย ในสำนักฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าปริมาณน้ำฝนในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนของปี 2553 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2552 อย่างเห็นได้ชัด โดยพบว่าปริมาณน้ำฝนในปี 2553 ปริมาณน้ำฝนเดือนเมษายน ลดลงเหลือ 27% เมื่อเทียบกับปี 2552 ส่วนเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนปริมาณน้ำฝนลดเหลือเพียงประมาณ 7 และ 1% ของช่วงเดือนเดียวกันของปี 2552 ตามลำดับ
"อาการทางกายภาพของลำไยที่แตกเกิดจากการที่เปลือกลำไยขยายตัวไม่ทันการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเนื้อลำไย ซึ่งสาเหตุแท้จริงเกิดจากการที่ผลลำไยที่กำลังเจริญเติบโตนั้น ผ่านสภาพแล้ง อุณหภูมิสูง หรือขาดน้ำก่อน จากนั้นจึงได้รับน้ำในปริมาณมากทันที หรือเกิดจากการฝนขาดช่วง ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ จึงทำให้เกิดการแสดงอาการผลแตกและหลุดร่วงได้"
จากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับอาการผลแตกของลำไย ประกอบด้วย สภาพแวดล้อมภายนอก คือ สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน เช่น แล้งแล้วกระทบฝน หรือฝนขาดช่วง หรือการจัดการน้ำที่เหมาะเหมาะสม เช่น ให้น้ำไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น และสภาพแวดล้อมภายในต้นลำไยเอง โดยมักจะพบว่าเฉพาะต้นลำไยที่ติดผลดก ลูกมีขนาดเล็กและเปลือกบาง มักจะถูกชักนำจากสภาพแวดล้อมให้แสดงอาการผลแตกได้ง่ายและมากกว่าต้นที่ติดผลปานกลางหรือน้อย
ส่วนปัญหาลำไยผลแตกดังกล่าวเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ วิธีการที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ซึ่งได้แก่การให้น้ำลำไยอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอ หากพบว่าลำไยติดผลดกอาจจะต้องทำการตัดแต่งช่อผลออกบ้างเพื่อให้ลำไยสามารถเลี้ยงลูกได้ การดูแลเรื่องธาตุอาหารเสริมโดยเฉพาะแคลเซียม อาจจะช่วยลดความเสียหายที่อาจจะเกิดกับสวนลำไยได้ สนใจปัญหาลำไยแตก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร ธีรนุช เจริญกิจ และผศ.พาวิน มะโนชัย ศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้-สกว. และศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้ โทร.0-5349-9218 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 14 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101014/76101/วิจัยพบน้ำสร้างปัญหาผลลำไยแตกทางออกตัดแต่งกิ่งเสริมธาติอาหาร.html