เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 53
ปัจจุบันนี้ธุรกิจการซื้อขายสัตว์น้ำยังใช้วิธีการนับด้วยกำลังคน โดยผ่านเครื่องชั่งน้ำหนักแบบธรรมดา ซึ่งใช้เวลามาก อีกทั้งการตรวจสอบปริมาณ และ จำนวนค่อนข้างยุ่งยาก ทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จึงได้ร่วมกันสร้างผลงานนวัตกรรมใหม่ เครื่องขนถ่ายและนับลูกปลา (Fish Transfer & Coun-ter WE511) โดยใช้เทคนิคการขนย้ายแบบ airlift pump และ เทคนิคการตรวจนับด้วย photo sensor เพื่อใช้ ในธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นอกจากนี้ยังนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงธุรกิจซื้อขายสัตว์น้ำ สามารถจัดทำเป็นเครื่องมือเชิงอุตสาหกรรมได้ ซึ่งผลงานสร้างสรรค์นี้เป็นของ น.ส.ชาลิตา จันทรศรีวงศ์ นายปองพล ยังวิจิตร และ นายพชร วิศวะกุล บัณฑิตจากภาควิชาทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมี ผศ.ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ อาจารย์จากภาควิชาทรัพยากรน้ำ เป็นที่ปรึกษา สามารถคว้ารางวัลชมเชย จากการประกวด "นวัตกรรมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2552" อีกด้วย
ผศ.ทีฆวุฒิ พุทธภิรมย์ บอกว่า เครื่องขนถ่ายและนับลูกปลา (Fish Transfer & Counter WE511) ต้นแบบเป็นการนำหลักการพื้นฐานทางด้านฟิสิกส์และวิศวกรรม-ชลศาสตร์ (Hydraulic engineering) มาประยุกต์ใช้ในการสร้าง เครื่องขนถ่ายย้ายสัตว์น้ำ ซึ่งมีเทคนิคสองประการ คือ เทคนิคการขนย้ายโดยใช้ airlift pump และ เทคนิคการตรวจนับด้วย photo sensor
เทคนิค airlift pump ได้นำผลการศึกษาของ TODOROKI (1973) มาทดสอบกับระบบ air pump ขนาดเล็ก สำหรับการเลี้ยงปลาตู้ทั่วไป โดยแบ่งออกเป็นสามประเภท คือ แบบไม่มีกรวยนำเข้า, แบบมีกรวย (cone) หัวฟู่ (cone and diffuser) และ แบบดั้งเดิม
ผศ.ทีฆวุฒิ บอกอีกว่า ส่วนเทคนิค photo sen-sor ได้ใช้หลักการ การสะท้อนของแสงต่อวัตถุซึ่งแปร-ผันกับสัญญาณไฟฟ้ามาเป็นตัวตรวจนับ สามารถใช้ได้กับปลาเหยื่อในตลาดทั้ง 3 ขนาด คือ ใหญ่ กลาง เล็ก และ มีความแม่นยำมากที่สุดกับปลาเหยื่อขนาดใหญ่
ที่สำคัญ กระบวนการนี้จะไม่สร้าง ความบอบช้ำหรือความเครียดต่อสัตว์น้ำในขณะที่ขนถ่ายจากบ่อไปสู่ตลาดการค้า อีกทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้สามารถหาได้ง่ายและมีใช้กันอยู่แล้วในกลุ่ม ธุรกิจเลี้ยงปลาสวยงามและการขนย้ายปลาเหยื่อ (bait fish) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนำไปประกอบเป็นเครื่องได้ด้วยตนเอง
เครื่องมือชิ้นนี้ยังมี ความละเอียดแม่นยำสูง เหมาะสำหรับสัตว์น้ำที่มีราคาแพง อย่างเช่น ปลาอาโร-วาน่า ฯลฯ และมีความทนทานใช้ได้ทั้ง น้ำจืด น้ำกร่อย และ น้ำเค็ม อีกทั้งยังพัฒนาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มผลิตผลในเชิงการค้าและด้านอื่นๆ
การนำเครื่องมือที่มี เทคโนโลยีชั้นสูงเข้ามาพัฒนาธุรกิจการซื้อขาย ขนถ่าย และ นับจำนวนได้ อย่างแม่นยำ นับว่าเป็นการสร้างให้เกิด ความไว้ใจกันระหว่างผู้ซื้อและผู้จำหน่ายได้อย่างเป็นรูปธรรม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 18 ตุลาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/119515