เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 53
นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 (สศข.8) จ.สุราษฎร์ธานี เผยว่า สศข. 8 ได้ติดตามสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 น้ำยางสด และปาล์มน้ำมัน จากการจัดเก็บข้อมูลจากตลาดรับซื้อที่สำคัญเป็นรายวันตั้งแต่ปี 2552-2553 พบว่า ทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ราคาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งยางแผ่นดิบชั้น 3 และน้ำยางสดมีราคาเกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ปาล์มน้ำมันทะลายน้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัม ก็มีราคาสูงเกิน 5.00 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ยางแผ่นดิบชั้น 3 ในปี 2552 เดือนมกราคม ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 46.93 บาท เดือนสิงหาคม 63.11 บาท และเดือนธันวาคม 83.32 บาท เมื่อย่างเข้าสู่ต้นปี 2553 เดือนมกราคม ราคาเพิ่มเป็น 92.55 บาท จนราคาพุ่งสูงเกิน 100 บาท เดือนเมษายนราคาเฉลี่ย 113.44 บาท ต่อจากนั้นในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนราคามีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวเฉลี่ย อยู่ที่ 106.91 บาท และ 109.17 บาท ตามลำดับ โดยตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 102.11 บาท
ส่วนน้ำยางสดในปี 2552 พบว่า เดือนมกราคมราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 49.36 บาท เดือนสิงหาคม 59.90 บาท และเดือนธันวาคมพุ่งไป 78.16 บาท เมื่อย่างเข้าสู่ปี 2553 เดือนมกราคมราคา 90.08 บาท เดือนมีนาคม 101.06 บาท เดือนเมษายน 101.68 บาท โดยราคาได้ทะยานพุ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายนที่ 104.41 บาท และเมื่อถึงเดือนกันยายนราคาเฉลี่ยคงอยู่ที่ 101.50 บาท
ด้านปาล์มน้ำมันทะลายน้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัม ในปี 2552 พบว่า เดือนมกราคมราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 บาท เดือนมิถุนายน 4.28 บาท เดือนธันวาคม 4.48 บาท ปี 2553 เดือนมกราคมราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 3.92 บาท กระทั่งถึงเดือนมิถุนายน ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 4.22 บาท และเมื่อเดือนกันยายนราคาพุ่งไปที่ 5.04 บาท
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด จึงจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษาเป็นอย่างดี ด้วยการกำจัดวัชพืชอย่างสม่ำเสมอ ใส่ปุ๋ยตามระยะและปริมาณความต้องการ รวมทั้งการป้องกันและกำจัดโรค แมลง และสัตว์ศัตรูพืช ตลอดจนการกรีดยางพาราและการเก็บเกี่ยวโดยต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์เป็นผู้ฝึกสอนและถ่ายทอดความรู้ที่ถูกต้องให้แก่เกษตรกร เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 22 ตุลาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=233188