เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 53
ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกฝรั่งมักประสบปัญหาการเก็บผลผลิตได้ไม่ตรงตามเป้า อีกทั้งรสชาติยังไม่ตรงตามความต้องการของกลุ่มตลาดผู้บริโภค เมื่อ "เจาะล้วงลึกลงถึงใต้ดิน" จึงพบว่าปัญหาหลักใหญ่เกิดจาก "ไส้เดือนฝอยเข้าระบาด" นอกจากสร้างความเสียหาย ยังทำให้ผลผลิตที่ออกมาไม่มีคุณภาพแม้จะใส่ปุ๋ยบำรุงในปริมาณที่มากเพียงใดก็ตาม
ฉะนี้ รศ.ดร.อุณารุจ บุญประกอบ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน พร้อมด้วย ดร. เกรียงศักดิ์ ไทยพงษ์ ได้ร่วมศึกษาวิจัย "การปรับปรุงพันธุ์ฝรั่ง" ขึ้น
รศ.ดร.อุณารุจเล่าให้ฟังว่า เริ่มแรกได้ทำการรวบรวมเชื้อพันธุกรรมฝรั่งจากในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 พันธุ์ เพื่อนำมาผสม จากนั้นนำ "ต้น ผสม" ที่ได้จำนวน 20,000 ต้น มาปลูกทดสอบสายพันธุ์ เพื่อคัดเลือก "พันธุ์ลูกผสม" ใหม่ "ขั้นสูง" ที่มีคุณสมบัติเด่น ด้านการเจริญเติบโต ทรงผล รสชาติ ความหวาน กระทั่งได้พันธุ์รับประทานสด และแปรรูป 26 รหัส (ต้นพันธุ์) และอีก 3 รหัส (ต้นพันธุ์) สำหรับใช้เป็นต้นตอ
จากนั้นทำการวิจัยพร้อมทั้งปรับปรุงพันธุ์ ต่อด้วยวิธีที่เหมาะสม ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปีกระทั่งเข้าสู่ขั้นตอนทดสอบ
"การผลิตเชิงพาณิชย์" ที่สามารถคัดเลือกฝรั่งพันธุ์ ใหม่ได้ 2 รหัส ซึ่งได้จากการรวบรวมเมล็ดผสมเปิดของฝรั่งพันธุ์ แป้นยักษ์สีทอง เมื่อปี 2542 และระหว่าง 2545-2547 จากต้นพันธุ์ลูกผสมจำนวน 120 ต้น มีเพียง 1 ต้นที่ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานตามที่ทีมวิจัยกำหนดไว้
เสร็จแล้วได้ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน เพื่อทดสอบคุณภาพ ด้านอื่นๆ ร่วมกับทำวิเคราะห์ทางเคมีในด้านปริมาณกรด คุณค่าทางโภชนาการ ตลอดจนความทนทานต่อโรคผลเน่า ผลที่ได้พบว่าฝรั่งพันธุ์ HORT–D1 มีการเจริญเติบโตดี ทรงต้นเป็นพุ่มแจ้ ลักษณะผลกลม สีเขียวสดใส รสชาติหวาน 8-10 บริกซ์ เนื้อแน่น ละเอียด กรอบ มีวิตามินซีสูง เหมาะที่จะนำมารับประทานผลสด"
การทดลองเพื่อคัดเลือกพันธุ์ลูกผสมใหม่ ในครั้งนี้ยังได้ฝรั่งต้นตอ HORT–R1 ที่มีคุณสมบัติเด่นด้านการทนทานต่อไส้เดือนฝอย รากปม โดยต้นพันธุ์หลักนั้นมาจากเมล็ดพันธุ์ฝรั่งจากเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ที่มีการเจริญเติบโตดี ทนทานดินเค็มสูง แต่พบว่าผลมีขนาดเล็ก รสชาติไม่อร่อย ดังนั้น สายพันธุ์ดังกล่าวจึงเหมาะที่จะนำมาใช้ปลูกเป็นพันธุ์ต้นตอ มากกว่าปลูกเพื่อรับประทานผลสด"
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงได้นำลูกผสมทั้งสองสายพันธุ์ มาทำการทดสอบความเข้ากันได้ ร่วมกับพันธุ์การค้าอื่นๆต่อ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวหากมีการส่งเสริมการปลูกให้เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ คาดว่าจะสามารถผลิตเป็นพันธุ์เพื่อการค้า ทั้งการส่งขายภายในและรวมทั้งการส่งออกไปยังตลาดเพื่อนบ้าน
สำหรับเกษตรกรที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร.03–4284–1084–5 ทุกวันในเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 25 ตุลาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/121406