เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 53
หากกล่าวถึง “ชันโรง” น้อยคนนักจะรู้จักว่าคืออะไร เพราะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น อย่างภาคเหนือรู้จักกันในชื่อ ขี้ตังนี ขี้ตึง ขี้ย้าดำ ภาคใต้รู้จักในชื่อ แมลงอุง ภาคอีสาน แมลงขี้สูด ภาคตะวันออก ตัวชำมะโรง
แต่ไม่ว่าจะเรียกกันในชื่อใด ล้วนหมายถึง แมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้ง ซึ่งมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เพราะนอกจากให้น้ำผึ้งที่มีคุณค่าทางยาแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ธรรมชาติช่วยในการผสมเกสรให้ทั้งพืชที่เกษตรกรปลูก และพืชในป่า
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่การทำสวนผลไม้ในหลายพื้นที่ของไทย อย่าง จ.จันทบุรี จังหวัดที่มีการทำสวนผลไม้มากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ จะใช้ “ชันโรง” เป็นเครื่องมือในการช่วยผสมเกสรให้พืชผลเติบโต ออกดอกออกผล ส่งผลให้ธุรกิจการเลี้ยงชันโรงเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้กับชาวสวนผลไม้หลายต่อหลายแห่งไปโดยปริยาย
ทว่าในการเลี้ยงชันโรง ชาวสวนส่วนใหญ่มักพบปัญหาในขั้นตอนการแยกรัง เหตุนี้ ผศ.ดร.อัญชลี สวาสดิ์ธรรม คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ปทุมธานี จึงได้ศึกษาวิจัยด้านการเพาะเลี้ยงชันโรง เพื่อชี้ให้เกษตรกรเห็นถึงขั้นตอนการแยกรังชันโรงที่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรมักใส่ชันโรงจำนวนหนึ่ง ที่เรียกว่า เซลล์ตัวอ่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกัน ไข่อ่อน เข้ามาในรังใหม่เท่านั้น ทำให้การแยกรังส่วนใหญ่ประสบความล้มเหลว เพราะชันโรงในรังจะอาศัยอยู่ไม่นานและรังนั้นจะล่มไป ดังนั้นในการแยกรังชาวสวนต้องคำนึงด้วยว่าชันโรงเป็นแมลงสังคม ในการแยกรังจึงต้องสร้างสังคมให้มีองค์ประกอบครบถ้วน
"ในชันโรง 1 รัง ต้องมี ตัวนางพญา, เซลล์ตัวอ่อน, ตัวเต็มวัย และตัวเต็มวัยของผึ้งงาน นอกจากนั้นใกล้ๆ รังจะต้องมีแหล่งอาหาร มีความชื้นที่เหมาะสม ไม่มีมด ศัตรูสำคัญของชันโรงด้วย หากการแยกรังได้ทำไปโดยถูกวิธีเช่นนี้แล้ว จะทำให้ตัวชันโรงมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม มีช่วงชีวิตอยู่ได้นานถึง 30-40 วัน จำหน่ายได้รังละ 500 บาทเลยทีเดียว ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำการวิจัยพบว่า ในบางครั้งชาวสวนมักเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ ว่า การแยกรังของตนประสบความสำเร็จ ด้วยวิธีจับชันโรงเข้ามาใส่ในรังใหม่ โดยไม่ได้จัดสังคมใหม่ให้เขา ทั้งนี้ เพราะตัวเต็มวัยของชันโรงมีอายุยืน เกษตรกรจึงเห็นว่า ในรังยังมีตัวเต็มวัยอยู่ในรังได้ 2-3 เดือน หรือเกิดกรณีที่ชันโรงจากรังอื่นที่อยู่กันอย่างหนาแน่นจนเกินไปอพยพเข้ามามากกว่า"
นอกจากนั้น ผศ.ดร.อัญชลี ยังฝากข้อคิดดีๆ ในการเริ่มเลี้ยงชันโรงไว้ว่า ในรายของชาวสวนบางคนที่กำลังจะริเริ่มเลี้ยงชันโรง หรือต้องการแยกรังชันโรงให้ได้หลายรัง จะไปจับชันโรงมาจากในป่าเลย และมักจะจับมาแต่ตัวอ่อน ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด ผลที่เกิดขึ้นก็เหมือนกันกับข้างต้น ทำให้องค์ประกอบของรังไม่ครบ ไม่มีตัวนางพญา ในที่สุดตัวอ่อนที่จับมาก็จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทางที่ดีชาวสวนควรแยกรังจากชันโรงรังที่มีอยู่ หรือขอซื้อชันโรงจากชาวสวนผู้เพาะเลี้ยงไว้ก่อนดีกว่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ชันโรงในระบบนิเวศไว้อีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับเกษตรกรคนใดที่ต้องการคำแนะนำในการเลี้ยงชันโรงเพิ่มเติม ผศ.ดร.อัญชลี ยินดีให้คำแนะนำ สามารถติดต่อสอบถามมาได้ที่ คณะวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี วิทยาเขตปทุมธานี หมายเลขโทรศัพท์ 0-2531-2988 ต่อ 124 ในวันและเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 26 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101026/77361/เลี้ยง“ชันโรง”แมลงช่วยผสมเกสรขยายพันธุ์ถูกวิธีสร้างรายได้เพิ่ม.html