เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 53
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยถึงการสนับสนุนผลงานวิจัยที่ ต้องการให้เกษตรกรในภาคใต้ได้มีพัฒนาการบูรณาการการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน ซึ่งจะถือได้ว่าเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนได้เข้าใจ และสามารถนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น วช. จึงได้ให้ทุนวิจัยแก่ นางอุไรวรรณ ทองแกมแก้วแห่งมหาวิทยาลัยทักษิณ และคณะ เพื่อทำการศึกษาและวิจัยเรื่อง "การวิจัยแบบมีส่วนร่วมตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากพืชในท้องถิ่นเพื่อแปรรูปเป็นอาหาร เครื่องสำอาง น้ำยาทำความสะอาด และกิจกรรมนันทนาการ"
ผู้วิจัยใช้การวิจัยแบบมีส่วนร่วมกำหนดให้แม่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา เข้าร่วมกลุ่มเพื่อทำการช่วยกันคิดหาวิธีที่สามารถนำพืชเหล่านี้มาแปรรูปใช้ ในการอุปโภคบริโภคในรูปแบบต่างๆ ได้ ผลวิจัยดังกล่าวพบว่าพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป และมักจะเหลือกินเหลือใช้กันอยู่แล้วในทุกครัวเรือนสามารถนำมาแปรรูปเป็น ผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันและสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้ เช่น มะนาว ส้มโอ มะกรูด ตะลิงปลิง มะขาม สับปะรด และกระเจี๊ยบ นำมาทำเป็นน้ำยาทำความสะอาด แต่แก้วมังกร ฟักทอง มะยม และเผือก นำมาทำน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ ส่วนกล้วยหอม ฟักทอง จำปาดะ และเผือก นำมาเป็นส่วนผสมในการทำไอศกรีม การใช้ส้ม ขิง มะพร้าวอ่อน บัวบก แตงโม ดอกอัญชัน ลูกตาล และเตยหอม มาเป็นส่วนผสมในการทำเค้ก การใช้มันสีม่วง ฟักทอง มันสำปะหลัง และเผือก เป็นส่วนผสมในการทำข้าวเกรียบ และการใช้ขมิ้นอ้อยและขมิ้นขาวเป็นส่วนผสมในการทำแป้งฝุ่น ซึ่งผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ทำขึ้นแม่บ้านหมู่ 3 ได้นำไปใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายภายในบ้าน อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ควรจะมีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นจนสามารถจำหน่ายได้นั้นจะต้องมีหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนเข้ามาส่งเสริมและให้การสนับสนุน
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 27 ตุลาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=233906