เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 53
นางวัชรี วิมุกตายน อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยหลังประชุมกับกลุ่มผู้ประกอบการตลาดค้าส่ง ค้าปลีกอาหารสด ถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่หลายจังหวัดว่า เหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลให้พื้นที่ปลูกผักในหลายจังหวัดได้รับความเสียหาย และยังเป็นอุปสรรคไม่สามารถขนส่งผักมาจำหน่ายตามตลาดกลางได้ จนมีผลให้ปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ทั้ง ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมืองลดลง 10-30% และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปกติ 10-20% แต่ยังมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค และไม่ขาดตลาด
ทั้งนี้ผักที่ได้รับผลกระทบมากส่วนใหญ่มาจากแหล่งเพาะปลูก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยเฉพาะ ผักชี ต้นหอม และผักกาดหอมราคาเพิ่มกว่า 100% ขณะที่ผักชนิดใบที่นิยมบริโภคมาก เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ราคาเพิ่ม 10-20% ขณะที่กะหล่ำปลี ผักกาดขาวปลี ราคาไม่เพิ่มเพราะส่วนใหญ่ปลูกบริเวณภาคเหนือ โดยราคาขายผักสดในกรุงเทพฯ ณ วันที่ 26 ต.ค. จากกรมการค้าภายใน มีดังนี้ ผักคะน้า กก.ละ 40-42 บาท ผักบุ้งจีน 30-32 บาท กวางตุ้ง 30-32 บาท ผักกาดหอม 50-52 บาท ผักกาดขาวปลี 20-25 บาท กะหล่ำปลี 20-22 บาท ผักชี 200-210 บาท ต้นหอม 110-120 บาท ขึ้นฉ่าย 80-90 บาท กะหล่ำดอก 58-60 บาท ผักกาดหัว 25-30 บาท มะระจีน 40-42 บาท แตงกวา 26-28 บาท ฟักเขียว 12-15 บาท
ทั้งนี้ที่ประชุมประเมินว่าราคาผักสดน่าจะลดลงและกลับสู่สถานการณ์ปกติใน 1-2 สัปดาห์ เมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย แต่ระหว่างนี้กรมการค้าภายในได้ตั้งศูนย์เฝ้าระวังผักสดเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อติดตามดูแลภาวะราคา และเชื่อมโยงผักสดจากแหล่งพื้นที่เพาะปลูกหลาย ๆ แหล่งเข้าด้วยกัน เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกผักขนาดใหญ่ตอนนี้มี 2 ฝั่ง จากนครราชสีมา และราชบุรี นครปฐม ซึ่งหากนครราชสีมาน้ำท่วม ศูนย์จะคอยเชื่อมโยงนำผักจากราชบุรี ซึ่งมีราคาถูกกว่าไปจำหน่ายตามตลาดสดที่มีราคาแพง
นางวัชรีกล่าวต่อว่า ยังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนผ่านสายด่วน 1569 ว่ามีสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในช่วงน้ำท่วมราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งกระสอบทรายเพิ่มจากถุงละ 3-4 บาทเป็น 7 บาท เรือท้องแบนพลาสติก พร้อมใบพายจากลำละ 2,000-3,000 บาท เป็น 5,000-6,000 บาท รวมถึงเครื่องสูบน้ำที่สต๊อกสินค้าลดลงมากและส้วมพลาสติกด้วย โดยกรมจะส่ง เจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ หากพบว่าค้ากำไรเกินจริง ก็จะมีโทษปรับและจำคุก
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงน้ำท่วมยังพบว่า ประชาชนได้หันมาซื้อสินค้าประเภทอาหารกระป๋อง และ อาหารแห้งเพิ่มขึ้น เพื่อเก็บสำรองไว้กรณีน้ำท่วมจนไม่สามารถออกไปไหนได้ โดยสินค้าขายดี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง อาหารกระป๋อง นมสดยูเอชที ขนมขบเคี้ยว ขณะที่อาหารสด เช่น ผัก ผลไม้ ตามตลาดสดมียอดขายลดลงประมาณ 10%
นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ได้มอบนโยบายการดูแลราคาสินค้าในช่วงน้ำท่วมผ่านการประชุมระบบวิดีโอ คอนเฟอเรนซ์กับพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยสถานการณ์ราคาสินค้า ผักสดในขณะนี้ยังมีปริมาณเพียงพอ ไม่ขาดแคลน และไม่พบการกักตุน หรือฉวยโอกาสขึ้นราคา ซึ่งหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ปริมาณน้ำลดลง กระทรวงพาณิชย์จะมีมาตรการเพื่อรองรับ สำหรับการช่วยเหลือประชาชนเพิ่มเติม
ส่วนสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้างยังทรงตัว ปริมาณสินค้าเพียงพอ และไม่พบการปฏิเสธการจำหน่าย หรือกักตุนสินค้า ยกเว้นทรายและอิฐมอญ บางพื้นที่มีสินค้าจำหน่ายไม่เพียงพอ เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและแหล่งผลิตอิฐมอญ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ถูกน้ำท่วม ราคาปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืช ความต้องการของเกษตรกรมีสูงขึ้น ในพื้นที่ที่ระดับน้ำลดลง โดยเฉพาะภาคกลาง เช่น ราชบุรี เพชรบุรี และนครปฐม เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกพืชผัก แต่ระดับราคาเริ่มลดลง เนื่องจากกรมการค้าภายในมีการจัดทำราคาแนะนำ ขณะที่ยารักษาโรคมีการปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อย
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าแม้สถานการณ์น้ำท่วมจะทำให้ราคาสินค้าหลายรายการโดยเฉพาะกลุ่มพืชผัก และสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่สินค้าหมวดนี้มีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อเพียง 5.78% ประกอบกับภาพรวมกำลังซื้อประชาชนไม่สูงมาก ทำให้เงินเฟ้อไม่น่าปรับตัวสูงขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 28 ตุลาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=310&contentID=100521