เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 53
การทำเกษตรอินทรีย์ หรือปศุสัตว์อินทรีย์ คือการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมและสมดุลทางธรรมชาติ เน้นการใช้อินทรียวัตถุหลีกเลี่ยงสารเคมี โดยอาศัยวัฏจักรธรรมชาติในการเพิ่มผลผลิต เสริมสร้างให้พืชและสัตว์มีความแข็งแรงในการต้านทานโรคได้ด้วยตัวเอง ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นหลักการที่ "อุดมชัย ฟาร์ม" แห่ง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ผู้ผลิตและจำหน่ายไข่ไก่อินทรีย์ ภายใต้การนำของทายาทรุ่น 2 ที่ได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติ มาเป็นเวลากว่า 6 ปี
"อุดมชัยฟาร์ม" ผลิตและจำหน่ายไข่ไก่อินทรีย์ ที่ได้จากการเลี้ยงไก่แบบปล่อยตามธรรมชาติ ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ ดูแลด้วยน้ำหมักชีวภาพสมุนไพรไทย ไม่ใส่สารเร่งสี เลี้ยงด้วยอาหารธัญพืช ย้อนไปปี 2503 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของฟาร์มนี้ ซึ่งตั้งอยู่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดย อุดมชัย-เย็นใจ แสงวัฒนกุล ผู้บุกเบิกธุรกิจ ภายใต้แนวคิดทำฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ขนาดเล็ก ที่ให้อิสระกับแม่ไก่ โดยเน้นให้ไก่ได้ใช้ชีวิตอย่างเสรี แต่ยังคงใช้ยาปฏิชีวนะเหมือนเช่นฟาร์มทั่วไป
ปี 2523 ทายาทรุ่นที่ 2 คือ ธนเดช แสงวัฒนกุล เข้ามารับช่วงต่อจากบิดาและยังคงรูปแบบการดำเนินธุรกิจไว้เช่นเดิม กระทั่งปี 2542 เมื่อ พ.ต.ต.(หญิง) สุธาทิพย์ แสงวัฒนกุล วัย 49 ปี ได้ผันตัวเองมาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว โดยดูแลด้านการบริหารจัดการ จึงเริ่มนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อพัฒนาผลผลิตทางธุรกิจ
ต่อเมื่อปี 2546 ฟาร์มแห่งนี้ต้องเผชิญการระบาดของไข้หวัดนกส่งผลให้ราคาไข่ไก่ตกต่ำ เหตุนี้ทำให้สุธาทิพย์และครอบครัวเกิดแนวคิดยกระดับการเป็นผู้ผลิตอาหารที่มีคุณภาพ โดยได้รับความช่วยเหลือ จาก ดร.รสสุคนธ์ พุ่มพันธุ์วงศ์ จากองค์การอาหารและยา แนะนำให้ใช้โปรไบโอติก (สิ่งส่งเสริมชีวิต) ซึ่งสารดังกล่าวจะส่งผลทำให้ไก่สดชื่น และมีภูมิคุ้มกันโรค จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงไก่จากเดิม โดยงดใช้ยาปฏิชีวนะ และเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพแทน พร้อมปรับขนาดฟาร์มจากเลี้ยงไก่ 1 แสนตัว เหลือเพียง 8,000 ตัว
"ที่ผ่านมากระบวนการเลี้ยงไก่ในอดีต แม่ไก่จะอยู่ในโรงเรือนอย่างแออัด มีการวางโปรแกรมการให้ยาปฏิชีวนะ และวิตามินผสมน้ำอย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะและวิตามินดังกล่าว ทำให้พบสารตกค้างในผลผลิต ซึ่งจะส่งผลกระทบในด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค ทำให้เกิดที่มาของแนวคิดการปล่อยให้แม่ไก่ได้รับอิสระ" สุธาทิพย์ แจง
ส่วนอาหารที่นำมาเลี้ยงจะผสมเองเพื่อให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการตามแบบปศุสัตว์อินทรีย์ คือ คำนึงถึงความเป็นธรรมชาติ ไม่นำสารเร่งการเจริญเติบโต สารเร่งสี หรือสารปรุงแต่งอื่นใดผสมไปในอาหาร ที่สำคัญวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารให้แก่แม่ไก่ เช่น ข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น และรำละเอียด เป็นวัตถุดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศทั้งหมด จึงปราศจากพืชตัดแต่งพันธุกรรม
"เรายังใช้สมุนไพรที่หาได้จากท้องถิ่น มาช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และรักษาโรคในบางโอกาส เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน ควบคู่การให้น้ำหมักชีวภาพ โดยนำผลไม้ตามฤดูกาลมาหมักด้วยกรรมวิธีที่สะอาด ในอัตราส่วนที่เหมาะสมใช้ในฟาร์มไก่ โดยพบว่าแม่ไก่สดชื่น แข็งแรง และมีภูมิต้านทานโรคมากขึ้น ช่วยลดความเครียด เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร" สุธาทิพย์ ระบุ
ปัจจุบัน อุดมชัยฟาร์ม ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ มีแม่ไก่ในความดูแล 3 หมื่นตัว และแรงงาน 20 คน ได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์ ให้เป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ในระบบปศุสัตว์อินทรีย์ ตามโครงการพัฒนาปศุสัตว์อินทรีย์ และได้รับประกาศนียบัตรในฐานะผู้นำสุขภาพ และเกษตรอินทรีย์ดีเด่น (Health farm) จากเครือข่ายองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจรับรองเพื่อใช้มาตรฐานปศุสัตว์อินทรีย์ โดยสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) และยังร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาไข่ไก่ ให้เก็บรักษาค่าความสด และคุณภาพของไข่ไก่ไว้ให้นานยิ่งขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 28 ตุลาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101028/77564/อุดมชัยฟาร์มผลิตผลทายาทรุ่น2ต้นแบบเลี้ยงอิสระไก่ไข่อินทรีย์.html