เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 53
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปัญหาดินเค็มแพร่กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด คิดเป็นพื้นที่รวม 17.81 ล้านไร่ หรือประมาณร้อยละ 17 ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งปัญหาดินเค็มส่วนใหญ่จะพบในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวลดลง โดยจังหวัดที่มีพื้นที่ดินเค็มมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ร้อยเอ็ด สกลนคร มหาสารคาม และขอนแก่น ซึ่งในส่วนของจังหวัดขอนแก่นแม้จะมีพื้นที่ดินเค็มน้อยกว่า แต่มีระดับความรุนแรงของดินเค็มมากกว่าพื้นที่อื่น ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องมีมาตรการแก้ไขปัญหาดินเค็มอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดินได้จัดทำโครงการปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม เพื่อป้องกันการแพร่กระจายดินเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ชี มูล โดยดำเนินการในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยขามเรียน มีเป้าหมาย 87,436 ไร่ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการได้แล้วจำนวน 13,680 ดังนั้น ในปี 2554 จะดำเนินการเพิ่มอีก 7,275 ไร่ ซึ่งการดำเนินงานจะเน้นปรับปรุงและพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินตามศักยภาพของ ดิน โดยใช้วิธีการทางด้านวิศวกรรม สำหรับปรับรูปแปลงนาเพื่อปรับสภาพพื้นที่ให้มีความสม่ำเสมอ และใช้วิธีทางด้านพืชโดยในพื้นที่เค็มจัดจะส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้นทนเค็ม คือกระถินออสเตรเลีย และปลูกหญ้าดิ๊กซี่ซึ่งเป็นหญ้าชอบเกลือ ส่วนพื้นที่ที่มีระดับความเค็มปานกลางถึงเค็มน้อย จะให้ปลูกโสนอัฟริกัน ถั่วพร้าเป็นปุ๋ยพืชสด นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ปลูกยูคาลิปตัสบนคันนา เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่
นายธวัชชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้การพัฒนาพื้นที่ดินเค็มบ้านหัวหนอง ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และขยายผลการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งเกษตรกร เยาวชนและผู้สนใจ สามารถเข้าไปศึกษาเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองและคนในท้องถิ่น เป็นการช่วยกันแก้ไขและฟื้นฟูทรัพยากรดินที่มีปัญหาให้สามารถนำกลับมาใช้ ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=234542