เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 53
สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้รุนแรงและกระจายไปในหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ซึ่งแม้เหตุการณ์ครั้งนี้จะสร้างความเสียหายมากมายแค่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถพิสูจน์น้ำใจของคนไทยด้วยกันได้เป็นอย่างดี คือการไม่ทอดทิ้งกันในยามทุกข์ยากแสนเข็ญ สิ่งของ เงินทองจากประชาชนทั่วประเทศที่หลั่งไหลไปช่วยผู้ประสบภัยจึงเป็นกำลังใจ หล่อเลี้ยงให้พวกเขามีแรงที่จะสู้ต่อไปได้
ในขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐต่างก็ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำ ท่วมอย่างเต็มกำลังความสามารถ เช่นเดียวกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะกรมชลประทานที่มีหน้าที่หนักในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของพื้นที่ทางการเกษตร ปศุสัตว์และประมง ที่ได้รับความเสียหาย ทางกระทรวงเกษตรฯ ก็ได้วางแผนช่วยเหลือไว้เรียบร้อยแล้ว
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ขณะนี้มีจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 29 จังหวัด พื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหายแล้วกว่า 2 ล้านไร่ กระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางด้านการเกษตรอยู่แล้ว โดยขณะนี้ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเข้าไปสำรวจความเสียหายในบางพื้นที่แล้ว และภายหลังน้ำลดจะเข้าไปสำรวจรายละเอียดอีกครั้ง เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย โดยจะให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นเงินและการปรับปรุง ฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นาข้าวที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดนั้น ได้มอบหมายให้กรมการข้าวเร่งเข้าไปสำรวจและให้ความช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบอย่างเร็ว
ด้าน นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสำรวจพื้นที่นาข้าว เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้วประมาณ 1.9 ล้านไร่ แบ่งออกเป็นสองส่วนด้วยกัน คือ พื้นที่นาที่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้ และพื้นที่นาที่ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง ดังนั้นในส่วนของนาข้าวที่สามารถกลับมาฟื้นฟูได้นั้น ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยข้าวและศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวใน พื้นที่จะเข้าไปให้คำแนะนำในการฟื้นฟูพื้นที่ปลูกข้าวหลังน้ำท่วม แต่กรณีที่นาข้าวได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง จะใช้เงินทดรองราชการจ่ายชดเชยให้ เนื่องจากในปีนี้สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ แนวทางการช่วยเหลืออาจปรับเปลี่ยน โดยขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการช่วยเหลือ โดยการขยายวงเงินจาก 50 ล้าน เป็น 100 ล้าน และศึกษาระเบียบ การจ่ายเงินชดเชยจากเดิม 606 บาทต่อไร่ เป็นการจ่ายเงินตามความเสียหายจริง
ขณะนี้กรมการข้าวได้ดำเนินการจัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว ตามโครงการสำรองเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลในการผลิตข้าวคุณภาพดีสายพันธุ์ต่าง ๆ เพื่อสำรองไว้ใช้ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติร้ายแรงทางธรรมชาติ ซึ่งเกษตรกรที่ขาดแคลนเมล็ดพันธุ์สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อขอรับเมล็ดพันธุ์ไปเพาะปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์และขยายพันธุ์ต่อไป โดยติดต่อเจ้าหน้าที่ของศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวในพื้นที่
สิ่งที่เกษตรกรต้องเฝ้าระวังหลังจากน้ำลดแล้วคือ ปัญหาโรคและแมลงศัตรูข้าวที่จะระบาดหลังจากน้ำลด เช่น โรคขอบ ใบแห้ง และหนอนกระทู้คอรวง ซึ่ง สามารถสร้างความเสียหายให้แก่ข้าวในนาได้ ดังนั้น ขอให้เกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ หากพื้นที่ที่มีการเก็บเกี่ยวไปแล้ว หลังน้ำลดให้เกษตรกรปรับสภาพพื้นที่โดยการไถกลบต้นข้าว เพื่อไม่ให้ลูกข้าวงอกขึ้นมาเป็นอาหารหรือแหล่งเพาะเชื้อของโรค แมลงศัตรูข้าวที่จะขยายพันธุ์ต่อไป
ทั้งนี้ ก็เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการชาวนา สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=101507