เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 53
นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรรวม 131 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มีปัญหาความเสื่อมโทรมของดินต่างๆ กระจายตัวอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ทำการเกษตรและพื้นที่อื่นๆ ที่ทำให้ผลผลิตตกต่ำ ต้องลงทุนสูง
จากการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดินพบว่า ปัญหาความเสื่อมโทรมของดินของประเทศไทยสามารถจำแนกออกเป็น ปัญหาดินกรด มีมากถึง 143.94 ล้านไร่ ดินตื้น 43.36 ล้านไร่ ดินเค็ม 14.39 ล้านไร่ ดินทราย 12.76 ล้านไร่ ดินเปรี้ยวจัด 5.51 ล้านไร่ และยังมีดินอินทรีย์อีก 2 แสนกว่าไร่ พื้นที่ดินเสื่อมโทรมเหล่านี้ บางส่วนก็ทับซ้อนอยู่ในที่เดียวกัน
ที่ผ่านมากรมฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงดินปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาดินเปรี้ยวนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง โดยกรมฯ เน้นดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวและพื้นที่สวนส้มร้างเพื่อพัฒนาพื้นที่ให้สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปลูกข้าว ปลูกไร่นาสวนผสม และนำร่องปลูกปาล์มน้ำมัน
นายสนอง ขำประดิษฐ์ ตัวแทนเกษตรกรจากจังหวัดปทุมธานีที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาที่ดิน ในการปรับปรุงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ดินเปรี้ยวด้วยสารอินทรีย์ กล่าวว่า เมื่อก่อนไม่รู้เรื่องสารอินทรีย์ชีวภาพเลย ทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีมาตลอด จนกระทั่งดินเสื่อมโทรมและเกิดปัญหาดินเปรี้ยว ปลูกข้าวได้ผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร แต่หลังจากกรมพัฒนาที่ดินได้เข้ามาส่งเสริมและแนะแนวทางการปรับปรุงดิน เปรี้ยวด้วยปูนมาร์ล และให้ปลูกปอเทืองพืชปุ๋ยสด ควบคู่กับใช้สารเร่งพด.2 เพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ ปรากฏว่าพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดินยังถ่ายทอดวิธีการผลิตปุ๋ยหมักจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไว้ใช้เอง ปัจจุบันพื้นที่นา 21 ไร่ สามารถสร้างรายได้ครั้งละประมาณ 2 แสนบาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตลดลงจากเดิมกว่าครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ตอนนี้มีรายได้มั่นคงและมีเงินเหลือเก็บใช้ชีวิตอย่างพอเพียง สารเร่ง พด.2 และสารเร่งอื่นๆ ขอได้ฟรีที่สถานีพัฒนาที่ดินที่ตั้งในจังหวัด ที่เขาจะให้ทั้งความรู้และแจกหัวเชื้อนำไปทดลองต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=234650