เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 53
จากที่สังคมได้ตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงการคำนึงถึงผลเสียของการปนเปื้อนของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ ทำให้เกิดความต้องการที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมีลง โดยเฉพาะในพืชผักนั้น หลายฝ่ายต่างคิดค้นหาวิธีอื่นทดแทน เช่นเดียวกับ 2 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มทร.ล้านนา และ มทร.ธัญบุรี ที่ได้วิจัยค้นพบ "เชื้อรา" สกัดเพลี้ยอ่อนได้ชะงัด อันนำมาซึ่งการช่วยลดปริมาณใช้สารเคมีในพืชผัก
นักวิจัยทั้งสอง คือ ผศ.ดร.มาลี ตั้งระเบียบ จากสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มทร.ล้านนา และ ผศ.ดร.ศิรินันธ์ เอี่ยมประภา นักวิจัยจาก มทร.ธัญบุรี คือเจ้าของผลงานวิจัยสายพันธุ์เชื้อราเพื่อใช้ในการควบคุมเพลี้ยอ่อนได้เป็นผลสำเร็จ
ผศ.ดร.ศิรินันธ์ กล่าวถึงเหตุผลที่วิจัยเชื้อราว่า เกิดจากการที่ตัวเอง และผศ.ดร.มาลี เพื่อนร่วมทีมสังเกตเห็นว่า ปัจจุบันสังคมได้ตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อมมากขึ้น รวมไปถึงการคำนึงถึงผลเสียของการปนเปื้อนของสารเคมีที่มีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในอาหารประเภทพืช ผัก ผลไม้ ทำให้หลายฝ่ายต่างต้องการที่จะลดปริมาณการใช้สารเคมีลง ซึ่งต่างก็คิดค้นหาวิธีการอื่นมาทดแทน
"วิธีที่เราทราบก็เช่น การใช้สารสกัดจากพืช หรือการใช้แมลงตัวห้ำ แต่ในส่วนของการวิจัยครั้งนี้ เราได้เลือกศึกษาหาว่า สายพันธุ์เชื้อราชนิดใดที่มีความสามารถควบคุมเพลี้ยอ่อนได้ ซึ่งเพลี้ยอ่อนพวกนี้ ที่รู้จักกันดี คือ เพลี้ยอ่อนลูกท้อ พบเห็นได้ในพืชผัก โดยเฉพาะพริก นอกจากทำความเสียหายให้แก่พืชผักแล้ว เพลี้ยอ่อนพวกนี้ยังเป็นตัวนำเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคพืชชนิดอื่นๆ อีกด้วย" ผศ.ดร.ศิรินันธ์ แจง
พร้อมกันนี้ ผศ.ดร.มาลี เสริมถึงรายละเอียดงานวิจัยว่า ทีมได้คัดเลือกสายพันธุ์เชื้อรา จำนวน 27 ไอโซเลต ประกอบด้วย Metarhizium spp. 17 ไอโซเลต, Paecilomyces spp. 7 ไอโซเลต และ Hirsutella citriformis 3 ไอโซเลต มาทดสอบ โดยใช้สปอร์แขวนลอยที่ความเข้มข้น 108 สปอร์ต่อมิลลิลิตร นำไปฉีดพ่นกับเพลี้ยอ่อน Myzus persicae ที่พบมากในพริก และเพลี้ยอ่อน Macrosiphum euphobiae หรือเพลี้ยลูกท้อ ซึ่งพบตามพืชผักทั่วไป ทั้งนี้ ผลจการทดสอบแบบ CAD พบว่า เชื้อราที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมเพลี้ยอ่อนทั้ง 2 ชนิด คือ Metarhizium sp. ไอโซเลต 7965
"เชื้อราไอโซเลต 7965 เป็นไอโซเลตที่มีประสิทธิภาพกับเพลี้ยอ่อนทั้งสองชนิด มีคุณสมบัติคือเลี้ยงง่าย เติบโตและสร้างสปอร์ได้เร็ว ซึ่งเหมาะสมในสภาพความเป็นจริงในธรรมชาติ เพราะการระบาดของเพลี้ยอ่อนมักเกิดขึ้นในพืชผักหลายชนิดพร้อมๆ กัน ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องหันมาใช้สารเคมีมากขึ้น แต่หากสามารถเพาะเลี้ยงเชื้อรานี้ได้ แล้วนำไปใช้ในวงการเกษตร ก็เท่ากับว่าช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมีฆ่าแมลงลงได้ อันส่งผลดีต่อสุขภาพของทุกคนด้วย"
นับเป็นอีกงานวิจัย อันเป็นแนวทางที่จะต่อยอดนำไปพัฒนาใช้กับเชื้อราตัวอื่นๆ ซึ่งพบเห็นได้ตามธรรมชาติ มีอยู่หลากหลายชนิด และมีคุณสมบัติพิเศษเช่นเดียวกับเชื้อรา ไอโซเลต ที่สามารถควบคุมปริมาณเพลี้ยอ่อนให้หยุดการเจริญเติบโตได้อย่างชะงัด ซึ่งท้ายที่สุดเป็นการนำมาซึ่งการลดปริมาณการใช้สารเคมีในพืช ผัก ผลไม้ ได้โดยปริยาย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101102/78039/พบเชื้อราสกัดเพลี้ยในพืชผักช่วยลดใช้สารเคมีในการเกษตร.html