เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 53
การใช้สารเคมีเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี ทำให้เจ้าของสวนผลไม้ใน ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี อย่าง "ศิวพร เอี่ยมจิตกุศล" เกษตรกรดีเด่น สาขาผลิตพืชอินทรีย์ ต้องพบกับปัญหามากมาย ไม่เพียงความเสื่อมโทรมของสวนไม้ผลเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงสุขภาพของตนเองที่เดิมมีปัญหาเรื่องแพ้อาหารที่เจือปนสารเคมีอยู่แล้ว เมื่อต้องมาสัมผัสกับสารเคมีทางการเกษตรอย่างต่อเนื่องกลับทำให้ร่างกายย่ำแย่ลงไปอีก
แต่หลังจากที่เธอหันมาเข้าสู่เกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน โดยได้เข้าไปขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินจันทบุรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ ก็ได้ให้การสนับสนุนทั้งความรู้ การฝึกอบรม รวมถึงปัจจัยการผลิต เช่น ผลิตภัณฑ์สารเร่งจุลินทรีย์ พด. ต่างๆ มาใช้ในพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งได้รับรองการผลิตพืชอินทรีย์เมื่อปี 2550 ในขณะที่สุขภาพร่างกายก็ไม่มีปัญหาในเรื่องการแพ้สารเคมีเหมือนเมื่อก่อน
"ที่สวนมีการปลูกพืชแบบผสมผสาน มีทั้งไม้ผล อาทิ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และยังมีการปลูกพืชผัก รวมถึงเลี้ยงสัตว์ควบคู่ด้วย เพื่อนำมูลมาทำปุ๋ยหมักใช้ในสวน เป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี สิ่งสำคัญของการปลูกพืชอินทรีย์คือจะต้องไม่มีการปนเปื้อนของสารเคมี ดังนั้นในพื้นที่รอบๆ สวนจึงปลูกกล้วยเสริมเพื่อเป็นแนวกันชนไม่ให้สารเคมีจากสวนของคนอื่นเข้ามาปนเปื้อนผลผลิตได้" ศิวพรเผยเทคนิค
ศิวพรระบุอีกว่า สำหรับหลักการจัดการสวนจะเน้นไปที่การปรับปรุงบำรุงดินโดยปุ๋ยจากวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่ อย่างเช่นปุ๋ยหมักจากเปลือกเงาะ ที่ได้เปลือกเงาะจากโรงงานผลิตเงาะกระป๋องของตนเอง ที่มีปริมาณมากนำมาทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ส่วนผสม เปลือกเงาะ 3,000 กิโลกรัม รำละเอียด 100 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม และสารเร่ง พด.1 ผสมในอัตราส่วน 1 ลิตรต่อ 200 ลิตร หมักทิ้งไว้ 45 วัน นำไปใช้โดยหว่านรอบทรงพุ่มในอัตราการใช้ที่แตกต่างกัน เช่น ใช้กับเงาะ ทุเรียน จะใส่ปุ๋ยต้นละ 100 กิโลกรัม ในช่วงการบำรุงต้นและช่วงการให้ผลผลิต ลองกอง ใส่ต้นละ 30 กิโลกรัม ในช่วงการบำรุงต้นและช่วงการให้ผลผลิต แต่ถ้าเป็นพืชผัก จะใช้ผสมในการเตรียมดินเพื่อเพาะปลูก ประมาณ 3 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือใช้รองก้นหลุมก็ได้
"สำหรับการทำน้ำหมักชีวภาพสูตรฮอร์โมนไข่นั้น เป็นสูตรที่คิดค้นเองและใช้ได้ผลดีเกินคาด โดยใช้ไข่ไก่ 5 กิโลกรัม ยาคูลท์ 500 ซีซี น้ำตาล 5 กิโลกรัม และแป้งข้าวหมาก 5 ก้อน หมักไว้นาน 7 วัน ก็จะได้น้ำหมักชีวภาพไว้ฉีดพ่นต้นลองกองและมังคุด เพื่อเร่งการออกดอก อีกสูตรหนึ่งคือปุ๋ยหมักปลา ใช้วัสดุคือปลาทะเลตัวเล็ก 30 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม EM 10 กิโลกรัม และสับปะรด 5 กิโลกรัม หมักไว้ประมาณ 2 เดือน เพื่อนำไปฉีดพ่นบำรุงต้นไม้ผลในอัตรา 300 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร" เจ้าของสวนคนเดิมเผยเคล็ดลับ
ศิวพรย้ำด้วยว่าทุกอย่างที่ใช้ในสวนแห่งนี้จะต้องปราศจากสารเคมี ไม่เว้นแม้กระทั่งการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งทางสวนจะใช้พืชสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้สารเคมี โดยถ้าเป็นการป้องกันเชื้อราจะใช้ใบเสม็ดขาวหมักกับน้ำทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นจะนำมาต้มให้อุ่นและทิ้งไว้ให้เย็นใช้ฉีดพ่นป้องกันเชื้อราในอัตรา 500 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร และถ้าหากพบแมลง และหนอนเข้าทำลายผลผลิตจะใช้ใบกะเพราและบอระเพ็ดมาหมักกับน้ำทิ้งไว้ 1 คืน ต้มให้อุ่น ทิ้งไว้ให้เย็น ใช้ฉีดพ่นอัตรา 500 ซีซีต่อน้ำ 200 ลิตร
สำหรับเกษตรกรที่สนใจอยากจะนำไปเป็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนระบบการทำเกษตรที่ลดการพึ่งพาสารเคมีมาพึ่งพาตนเอง ก็สามารถสอบถามรายละเอียดหรือเยี่ยมชมสวนของเธอได้ที่เลขที่ 91 หมู่ 8 ต.คลองพลู อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี หรือ 08-9028-3042 ได้ตลอดเวลา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101104/78187/ใช้น้ำหมักฮอร์โมนไข่ใส่ไม้ผลวิธีลดต้นทุนศิวพรเอี่ยมจิตกุศล.html