เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดเตรียมความพร้อมของเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลที่เกิดจากภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรในหลายจังหวัดกำลังประสบปัญหาภัยน้ำท่วม ซึ่งผลไม้หลายชนิดอยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยจากข้อมูลเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พบว่า พืชสวนที่ประสบอุทกภัย จำนวน 160,716 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 2 ของพื้นที่ที่คาดว่าจะเสียหายจริง คือ 6,084,779 ไร่
นายอรรถ กล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูไม้ผลหลังประสบอุทกภัยในส่วนของต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วม มักจะอ่อนแอ เนื่องจากรากขาดอากาศหายใจ ไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้อย่างสมบูรณ์ตามปกติได้ ดังนั้นหลังประสบอุทกภัย เกษตรกรต้องรีบบำรุงรักษาไม้ผล ให้เกิดรากใหม่ และแตกใบอ่อนโดยเร็ว โดย เร่งทำทางระบายน้ำออกจากสวนผลและออกจากบริเวณโคนต้นไม้ หรือบริเวณที่มีน้ำขังโดยเร็ว ด้วยการขุดร่องระบายน้ำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่เร็วที่สุด ร่องระบายน้ำจะขุดลึกก็ได้ และอย่านำเครื่องจักรกลเข้าไปดำเนินการในสวนหลังน้ำลด เพราะดินที่น้ำท่วมขังจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลาย และเกิดการอัดแน่นได้ง่าย เป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ และกระทบกระเทือนต่อระบบรากของไม้ผล
เมื่อดินแห้งแล้วควรขุดหรือปาดเอาดิน ทราย หรือตะกอนต่างๆ ที่มากับน้ำและทับถมอยู่ในแปลงไม้ผลออก รวมทั้งเศษไม้ต่างๆ ด้วย เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานในแปลงไม้ผล ควรช่วยให้ไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น ด้วยการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพราะระบบรากยังไม่สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 หรือ 16-21-27 ละลายน้ำฉีดพ่นก็ได้ ในสวนไม้ผล หากถูกน้ำท่วมนานๆ หลังน้ำลดมักเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่า ควรป้องกันรักษาด้วยการราด หรือทาโคนต้นไม้ผลด้วยสารเคมีกันรา เช่น เมตตาแลดซิล (ริโดมิล) อีโฟไซท์-อลูมินั่ม (อาลิเอท) หรือ พีซีเอ็นบี (เทอราดลอร์, บลาสลิโคล) หรือปรับปรุงสภาพของดินไม่ให้เหมาะต่อการเกิดโรคโดยการโรยปูนขาวหรือโคโลไม ท์ เพื่อให้ดินมีสภาพเป็นด่างเล็กน้อยก็ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=234987