เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 53
ศาสตราจารย์นายแพทย์ สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมการพัฒนาวิธีการ เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (Postharvest) ปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพมาตรฐาน อีกทั้งเป็นการช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรผู้ปลูกที่อยู่นอกเขตเกษตรเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันต้องแบกรับภาระค่าขนส่งผลผลิตไปยังโรงงานถึงตันละ 1,500 บาท วช.จึงได้สนับสนุนทุนให้ ดร.กนก คติการ ทำวิจัยเรื่องการวิเคราะห์เชิงนโยบายในการผลิตพืชพลังงาน พืชอุตสาหกรรมและพืชอาหารสัตว์ในประเทศไทย ซึ่งการวิจัยดังกล่าวมุ่งพัฒนาเทคนิคการแปรรูปน้ำมันปาล์มโดยไม่ใช้ไอน้ำ
ทั้งนี้ วิธีการสกัดน้ำมันปาล์มรูปแบบใหม่นอกจากช่วยทำให้ต้นทุนลดลง ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และน้ำมันที่ได้จากการกลั่นด้วยระบบใหม่นั้น แม้คุณภาพเท่าเดิม ค่าความสดในน้ำมันดิบที่ได้ตรงตามมาตรฐาน ไม่มีสิ่งปนเปื้อน แต่ด้านประสิทธิภาพปริมาณจะดีกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกากปาล์ม หลังนำไปผ่านขบวนการต่างๆพบว่า สามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งทำปุ๋ยหมักได้เป็นอย่างดี การวิจัยดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกได้รับประโยชน์สูงสุด มากกว่าการส่งขายในรูปของวัตถุดิบเพียงอย่างเดียว ศาสตราจารย์นายแพทย์สุทธิพรกล่าว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/124115