เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 53
สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ ได้สร้างความเสียต่อภาคเกษตรอย่างมหาศาล โดยเฉพาะนาข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักอันดับต้นของประเทศเสียหายกว่า 7 ล้านไร่นั้น หมายถึงว่า ผลผลิตข้าวในปีนี้จะต้องลดลงอย่างแน่นอน และจะส่งผลให้ราคาข้าวถีบตัวสูงขึ้น และดูเหมือนว่ากรรมของชาวนาไม่สิ้นสุดเพียงแค่น้ำท่วมเท่านั้น หากแต่พื้นที่นาดอน ซึ่งเป็นความหวังว่าจะได้ผลผลิตข้าวสู่ตลาด แต่กลับถูกโรคระบาดจู่โจมอย่างหนักตั้งแต่เพาะต้นกล้า ช่วงออกรวง และใกล้เก็บเกี่ยว มีทั้งเพลี้ยไฟ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และหนอนม้วนใบ พบมากที่ จ.เลย และจ.อุบลราชธารี สร้างความเสียแก่ชาวนาไม่แพ้ผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม
ก่อนหน้า นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมการข้าว ระบุถึงสถานการณ์การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลว่า ค่อนข้างน่าเป็นห่วงอย่างมาก เนื่องจากพบการระบาดในพื้นที่ จ.เลย ซึ่งเป็นจังหวัดที่ไม่เคยเกิดการระบาดมาก่อน ล่าสุดสรุปกลางเดือนตุลาคม 2553 พบพื้นที่การระบาดถึง 14 อำเภอ รวมพื้นที่ระบาด 112,273 ไร่ โดยมีพื้นที่การระบาดรุนแรง 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.ท่าลี่ และอ.เชียงคาน ส่วนสาเหตุเกิดจากลมมรสุมพัดพามาจาก จ.พิษณุโลก และจ.เพชรบูรณ์ รวมถึงหรือประเทศลาว เข้ามาในพื้นที่ปลูกข้าวทั้ง 14 อำเภอของ จ.เลย
ที่ จ.อุบลราชธานี นั้น ถือเป็นที่น้ำท่วมอย่างหนักอีกจังหวัดหนึ่ง แต่มีบางพื้นที่ อย่าง อ.นาตาล เป็นพื้นที่นาดอน ต้องประสบภัยแล้ง ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่า ฝนตกช้า ทำให้ชาวบ้านลงมือทำช้าตามไปด้วย และที่เลวร้ายไปกว่านั้น เมื่อเกษตรกรลงเพาะต้นกล้า ปรากฏว่าเจอโรคเพลี้ยไฟระบาดทันที่ ต่อเนื่องจากโรคอื่นจนช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ประมาณการว่า ผลผลิตข้าวในนาดอนของเกษตรกรที่ อ.นาตาล ปีนี้ได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
นายสำเริง นามเดช เกษตรอำเภอนาตาล เปิดเผยว่า ปีนี้เกษรตรกรในพื้นที่ประสบกับภัยพิบัติ ทั้งภัยแล้ง และศัตรูพืชระบาดในนาข้าว จากการออกสำรวจพบว่า ศัตรูพืชที่ระบาดแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1.ระยะกำลังเป็นข้าวกล้า ใบมีแผล จุดสีน้ำตาลคล้ายลูกตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล แผลสามารถขยายการลุกลามกระจายไปทั่วบริเวณใบ และถ้าโรครุนแรง ต้นกล้าข้าวจะแห้งตาย คล้ายถูกไฟไหม้
2.ระยะแตกกอ อาการจะพบได้ที่ใบ ข้อต่อของใบ และข้อต่อของลำต้น ขนาดแผลจะใหญ่กว่าในระยะกล้า แผลลุกลามได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำ สีน้ำตาลดำ และมักจะหลุดจากกาบใบเสมอ และ
3.ระยะคอรวง (ระยะออกรวง) ถ้าข้าวเพิ่งจะเริ่มให้รวง เมื่อถูกเชื้อราเข้าไปทำลายเมล็ดจะลีบหมด แต่ถ้าเป็นโรคตอนรวงข้าวแก่ ใกล้เก็บเกี่ยว จะปรากฏรอยแผลช้ำที่น้ำตาล ที่บริเวณคอรวง นี่คือที่พบในขณะนี้
"ปีนี้คาดว่าข้าวคงได้ผลผลิตน้อย เพราะในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี มีปัญหาทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง และยังที่นาดอนที่พอจะเป็นความหวังของชาวนากลับมาถูกแมลงศัตรูพืชทำลายอีก ไม่รู้ชาวนาจะเก็บเกี่ยวอะไร และหากผลผลิตน้อยอย่างนี้คงจะทำให้ข้าวปีนี้ราคาเพิ่มสูงแน่นอน" นายเดช กล่าว
นายทอน กาละพันธ์ ชาวนาวัย 57 ปี จาก ต.พะลาน อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ปีนี้เกิดภาวะแห้งแล้งมานาน เพราะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านซึ่งมีอาชีพทำนาต้องประสบกับความลำบาก อย่างครอบครัวของตนมีที่ทำกินสำหรับปลูกข้าวทำนาทั้งหมด 80 ไร่ ซึ่งแต่ละปีอาศัยน้ำฝนในการทำนา แต่ปีนี้ฝนตกช้า การทำนาช้าก็ตามด้วย พอฝนตกชาวบ้านลงมือปลูกข้าว ขณะที่ต้นข้าวยังเป็นต้นกล้าก็ถูกเพลี้ยไฟทำลาย จนต้องหว่านกล้าซ้ำอีกครั้ง
"พอหว่านรอบสองต้นใกล้จะเก็บเกี่ยวถูกศัตรูพืชระบาดอย่างรุนแรง สุดที่จะป้องกันไว้ทัน ทำให้ข้าวเสียหายไปเป็นจำนวนมาก คาดว่าผลผลิตปีนี้ได้ไม่เกินครึ่งแน่นอน" นายทอนกล่าว
เช่นเดียวกับ นางตุ่น จันทร์อุตส่าห์ ชาวนาวัย 53 ปี จากตำบลเดียวกัน บอกว่า มีพื้นที่ทำนา 40 ไร่ อาศัยรายได้จากการขายข้าวเลี้ยงครอบครัวเป็นอาชีพหลัก ตอนแรกคิดว่าโชคดีที่เป็นนาดอน น้ำไม่ท่วม แต่สุดท้ายกลับถูกเพลี้ยไฟทำลายตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้า พอนำมาปักดำเพลี้ยยิ่งแพร่กระจายเป็นวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว ต้นข้าวในที่นาเสียหายเป็นอย่างมาก
"ทุกปีฉันจะใช้ไม้ตอกสำหรับมัดข้าว จำนวน 1 หมื่นเส้น ทั้งข้าวเหนียวและข้าวเจ้า แต่ปีนี้ใช้ตอกไม่เกิน 3,000 เส้น เพราะข้าวเสียหายมาก และรุนแรงที่สุดเท่าที่เห็นมา อยากวิงวอนให้รัฐบาลช่วยเหลือบ้าง อย่างน้อยให้พักผ่อนชำระหนี้ไว้ก่อนสัก 1 ปี ก็ยังดี เพราะพวกเราไม่มีเงินที่จะนำใช้หนี้กันแล้ว" นางตุ่น กล่าว
ด้าน นายภูวนัย ก่อบุญ กำนัน ต.พะลาน อ.นาตาล บอกว่า มีอาชีพทำนามาตั้งแต่บรรพบุรุษ พบว่าปีนี้นับเป็นกรรมของชาวนาอย่างเห็นได้ชัด เพราะต้นปีชาวนาต้องเผชิญกับความแห้งอย่างรุนแรงและยาวนาน พอหว่านกล้าเตรียมปลูกข้าวเพลี้ยไฟก็เริ่มระบาดทำลายต้นข้าว ทำให้เสียหายอย่างรวดเร็ว แล้วพอถึงเวลาจะเก็บเกี่ยวกลับมาถูกศัตรูระบาดอย่างหนักอีก โดยเฉพาะโรคไหม้คอรวงแผ่กระจายไปทั่วท้องทุ่งอย่างรวดเร็ว จึงทำให้ผลผลิตในปีนี้ลดลงเป็นอย่างมาก เพราะต้นข้าวที่ได้รับความเสียหายจากโรคระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วท้องทุ่ง จึงเห็นชอบด้วยกับลูกบ้านและชาวนาที่ออกมาขอวอนรัฐบาลขอผ่อนชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปอีกสัก 1 ปี เพราะเกษตรกรมีข้าวเพื่อขายจำนวนน้อยมาก
ปีนี้นับเป็นความโชคร้ายของเกษตรกร แม้กระทั่งพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ทั้งจะได้ผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของคนไทย หากประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แน่นอนที่สุดในปีนี้ ไม่เพียงแต่ราคาข้าวจะสูงขึ้น แต่อาจจะกระทบถึงการส่งออกอีกด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101108/78709/นาลุ่มน้ำท่วมนาดอนโรคระบาดกรรมของเกษตรกรส่งท้ายเสือดุ.html