เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 53
"เคยู โอวาการ์ด : สารเคลือบไข่สดจากสตาร์ชข้าวเจ้า" (KU OvaGuard: Fresh Egg Coating from Rice Starch) เป็นนวัตกรรมสารเคลือบไข่ไก่ โดยการนำแป้งข้าวเจ้ามาแปรรูปให้เป็นสารละลายคล้ายเจล เพิ่มความคงตัวด้วยอนุพันธ์ของเซลลูโลสและเติมพลาสติไซเซอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลือบ เพื่อใช้สำหรับเคลือบไข่ไก่ให้สดได้ถึง 28 วัน
งานวิจัยนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ สรรพกุล จากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยผลงานดังกล่าวคว้ารางวัลที่ 3 จากการประกวด นวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2553
ผศ.ดร.ภาณุวัฒน์ เปิดเผยว่า...ในบ้านเรานั้นการตั้งราคาไข่ไก่จะแบ่งเกรดตามขนาด น้ำหนัก โดยคุณภาพความสดนั้นอยู่ในดุลพินิจท้ายสุด ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับผลเสียโดยตรง หากผลผลิตมีการสูญเสียน้ำหนัก และเสื่อมคุณภาพจากภายใน โดย เฉพาะเวลาที่จุลินทรีย์บางชนิดซึมผ่านเข้าไป ส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนได้
ส่วนใน ตลาดต่างประเทศ การตั้งราคาซื้อ–ขายไข่ จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ ความสดใหม่ ไข่ที่มีการวางขายนานเกิน 2 สัปดาห์ จะมีการปรับราคาลงประมาณ 40–60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ผลิต ดังนั้น หากกระบวนการเก็บรักษาให้คงความสดมีคุณภาพในระยะเวลายาวนาน จึงนับเป็นการเพิ่มมูลค่า อีกทั้งเอื้อประโยชน์ ต่อการส่งผลิตผลไปขายยังประเทศเพื่อนบ้าน
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว...ทีมงานจึงพัฒนาสารใช้เคลือบผิวเปลือกไข่ จากวัสดุต่างๆ เช่น น้ำมัน พอลิเมอร์สังเคราะห์ และพอลิเมอร์ย่อยสลายทางชีวภาพ ซึ่งสารเหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยเพิ่มการปกป้อง กันการซึมผ่านต่อการเคลื่อนย้ายความชื้นผ่านเปลือกไข่ ยืดอายุการเก็บคุณภาพในเชิงค่า "ฮอก" ที่ เกี่ยวข้องกับเกรดไข่ การลดลงของการสูญเสียน้ำหนักโดยขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากหลังนำไข่สดมาผ่านขบวนการ ด้วยการนำแป้งข้าวเจ้ามาแปรรูปให้เป็นสารละลายคล้ายเจล แล้วทำการหาสูตรสารเคลือบไข่ที่เหมาะสม (สตาร์ชข้าวเจ้า) เพิ่มความคงตัวด้วยอนุพันธ์ ของเซลลูโลส ทำหน้าที่ป้องกันการแยกเฟส และใช้ "พลาสติไซเซอร์" ช่วยเพิ่มความอ่อนตัวของผลิตภัณฑ์ สุดท้ายที่เคลือบบนพื้นผิวเปลือกไข่ เพื่อทำให้ไม่เกิดรอยแตก กรรมวิธีนี้กล่าวให้เข้าใจง่ายๆก็คือ การทำ "ฟิล์ม" ที่สามารถบริโภคได้โดยไม่ก่ออันตราย
จากนั้นใช้ "กรดไขมัน" ซึ่งมีคุณสมบัติ "ไฮโดรฟิลิค" เพื่อป้องกันการซึมผ่านไอน้ำจากภายในสู่ภายนอก ร่วมกับ "สารต้านจุลินทรีย์" เสริมเป็นอันดับสุดท้าย นำไปเก็บในอุณหภูมิห้องเป็นระยะเวลานาน 4 สัปดาห์ ให้ผลว่า กรรมวิธีดังกล่าวสามารถรักษาคุณภาพของไข่คงไว้ที่เกรดเอ (59–75 Haugh Unit) ตลอดอายุการเก็บรักษา อีกทั้งยังรักษาโปรตีนในไข่ขาวข้น (โอวิโอมิวซิน) ไม่ให้เสื่อมสภาพ
ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเก็บความแข็งแรงเปลือกไข่ และลดโอกาสการปนเปื้อนจุลินทรีย์จากภายนอกได้เป็นอย่างดี โดยที่สูตรดังกล่าวสามารถนำมาปรับสารเคลือบไข่สดต้านจุลินทรีย์ได้ หากผู้ผลิตต้องการตอบสนองตลาดพรีเมียม โดยมีต้นทุนเพียง 2.5 สตางค์/ฟอง
นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความได้เปรียบด้านการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรของไทย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/125076