เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในปี 2554 นี้จากการพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะมีช่วงฤดูหนาวยาวนานและอุณหภูมิต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 3-4 องศาเซลเซียส จึงเป็นสาเหตุให้พื้นที่ที่เคยมีอากาศหนาวเย็นจัดจะยิ่งหนาวเย็นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร ด้านพืชสวนในภาพรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ และไม้ผลที่ปลูกในที่สูงจะได้ผลกระทบจากการเกิดน้ำค้างแข็งหรือแม่คะนิ้ง หรือเหมยขาบ เป็นสภาพที่น้ำค้างเกาะบนต้นหญ้า พืชเศรษฐกิจกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งและทำให้ไม้ผล ไม้ดอก มีการไหม้แห้ง เสียหายชะงักงัน หากเกิดรุนแรงอาจทำให้ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ ความรุนแรงอาจทำให้ต้นไม้เล็กตาย และเสียหายทั้งแปลง
ดังนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดเตรียมแนวทางป้องกันความเสียหายที่จะเกิด ไว้ 3 ประการ สำหรับผลเสียทางกายภาพต่อพืชสวนโดยตรง แนะนำให้จัดการป้องกันกำจัด โดยการติดตั้งระบบน้ำเหวี่ยง (sprinkler) ซึ่งติดตั้งไว้ใต้ดินและให้ได้รับแสงแดดเต็มที่ในตอนกลางวันเพื่อให้น้ำมี อุณหภูมิสูง หรือใช้น้ำอุ่นที่ปล่อยไปตามท่อ (ต้นทุนสูง) ซึ่งจะเหมาะสมกับพืชผลที่ให้ผลตอบแทนสูงดังตัวอย่างในประเทศยุโรป และ ใช้วิธีการสุมไฟแล้วใช้พัดลมเป่าให้อากาศเข้าไปในแปลง จะทำให้อุณหภูมิของแปลงปลูกอุ่นขึ้น สำหรับไม้ผลยืนต้น ถ้าอากาศร้อนจัดมากอาจต้องดำเนินการหุ้มต้นด้วยฟางข้าวหรือหญ้า ควรคลุมโคนต้นเพื่อไม่ให้อุณหภูมิบริเวณส่วนรากเย็นจัด
นอกจากนี้เกษตรกรควรระวังอากาศหนาวจัด จะมีผลเสียต่อการออกดอกติดผล เนื่องจากการแทงช่อดอกและดอกบานช้าต้องรอให้อากาศอุ่นขึ้น ทำให้ผลไม้ออกล่า กระทบต่อการแข่งขันผลไม้อื่นๆ นอกจากนี้เพศของดอก จะชักนำให้เป็นดอกเพศผู้มากกว่าดอก (ดอกกระเทย) หรือดอกตัวเมีย ทำให้ไม่ติดผลเท่าที่ควร อีกทั้งการผสมเกสรไม่ดีเนื่องจากเกสรตัวเมียแห้งเร็ว ทำให้เกิดเป็นผลกระเทย และ ช่อดอกแห้งไหม้ เนื่องจากน้ำค้างแข็ง แมลงไม่ออกหาอาหารจะเกาะนิ่ง ทำให้ไม่มีตัวช่วยผสมเกสร ส่วนผลเสียจากโรคระบาดที่พบในอากาศเย็นชื้น ได้แก่ โรคราน้ำค้างในองุ่น ข้าวโพด ไม้ผลอื่น ๆ ซึ่งจะเข้าทำลายช่อดอกและใบ เป็นต้น และ โรคราแป้ง จะเข้าทำลายช่อดอกทำให้ช่อดอกแห้งเสียหาย ติดผลน้อยจะพืบทั้งที่สูงและที่ราบ
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=235502