เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 53
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ทำการศึกษาพื้นที่ซึ่งเคยมีการปลูกส้มมาก่อน เพื่อดูว่า เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่มีศักยภาพ อีกทั้งยังมีระบบชลประทานที่พร้อมรองรับ โดยปัจจุบันต้นปาล์มน้ำมันที่ทุ่งรังสิตซึ่งอายุ 5 ปีให้ผลผลิตเฉลี่ย 4.3 ตัน/ไร่/ปี ขณะที่ผลผลิตเฉลี่ยปาล์มของประเทศไทยอยู่ที่ 2.7 ตัน/ไร่ เท่านั้น
ทั้งนี้ จะมีการรวบรวมข้อมูลและตัวเลขผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิต หากพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ คาดว่าจะมีการเสนอต่อกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ประกาศพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต เป็นเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันมุ่งสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวสามารถ ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ ในด้านวิชาการ เงินทุน และการประกันราคาขั้นต่ำ โดยขณะนี้มีเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิตที่ทำการปลูกปาล์มน้ำมันในสวนส้มร้าง มากกว่า 12,000 ไร่ และหากในอนาคตมีการประกาศรับรองพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิตเป็นเขตส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันสู่การผลิตเป็นพลังงานทดแทนได้ คาดว่าจะมีเกษตรกรแห่ปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มมากขึ้นไม่น้อยกว่า 50,000 ไร่
"ทุ่งรังสิต เป็นเขตที่มีระบบชลประทานที่ดีที่สุดของประเทศ เหมาะกับการทำการเกษตรและปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกส้มเพราะให้ผลตอบแทนดี กระทั่งเกิดโรคระบาดขึ้นรุนแรงสร้างความเสียหายอย่างหนักและเป็นเหตุให้สวนส้มรังสิตต้องเลิกปลูกไป กระทั่งปี 2547 เกษตรกรเหล่านั้นได้เข้าร่วมโครงการทดสอบการปลูกปาล์มน้ำมันกับกรมส่งเสริมการเกษตร พบว่า ปาล์มน้ำมันที่ปลูกไว้ให้ผลผลิตดีและเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง แต่เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่เขตส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันตามประกาศ ของกระทรวงเกษตรฯ เช่นเดียวกับภาคใต้และภาคตะวันออก เป็นเหตุให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในทุ่งรังสิตต้องเสียโอกาสต่างๆ ทั้งที่มีศักยภาพและระบบชลประทานที่พร้อมรองรับ ถ้าไม่เร่งดำเนินการ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่พื้นที่ทุ่งรังสิตซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรที่มีศักยภาพ จะถูกแทนที่ด้วยโครงการบ้านจัดสรรในอนาคต" นายอรรถกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=235677