เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 53
จากอดีตจนปัจจุบันเศษวัสดุเหลือใช้ที่เรียกว่า "ขยะ" มักจะสร้างปัญหาจากกลิ่นไม่พึงประสงค์ส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนในบริเวณใกล้เคียง แม้ที่ผ่านมาจะมีวิธีการกำจัดด้วยการฝังกลบและเผาทำลายทิ้ง แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่และการก่อมลภาวะที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ทีมนักวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำโดย ผศ.ดร.วีรชัย อาจหาญ หัวหน้าศูนย์ ได้ศึกษาวิจัยในการนำขยะมาผลิตเป็นพลังงานทดแทน ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางบริหารจัดการขยะชุมชนเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนแบบครบวงจรในระดับชุมชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
หลังใช้ระยะเวลาศึกษาวิจัยอยู่ 2 ปีจนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีกำจัดขยะต้นแบบสำหรับชุมชนเพื่อนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใส่พืชผัก ไม้ผลและพลังงานเชื้อเพลิงอัดแท่งใช้ถ่านหินในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีกำจัดขยะต้นแบบของศูนย์ ได้ถูกนำไปใช้ในหลายชุมชนทั่วประเทศ
"เทคโนโลยีนี้ทาง ปตท. ให้ทุนไปทำที่เกาะเสม็ด ซึ่งทุกวันนี้บนเกาะเสม็ดไม่มีที่ให้ฝังกลบแล้ว แต่โรงกำจัดขยะที่นั่นขนาดจะใหญ่กว่ารับปริมาณขยะได้วันละ 50 ตัน/วัน ขณะที่โรงงานต้นแบบที่นี่จะเล็กกว่ารับได้เพียงวันละ 5 ตัน เพราะเราได้คำนวณแล้วว่าแต่ละคนจะทิ้งขยะเฉลี่ยครึ่งกิโล/วัน ประชากรในมหาวิทยาลัยมีประมาณ 1 หมื่นคนขยะก็จะมีประมาณ 5 ตัน/วัน"
ผศ.ดร.วีรชัย เปิดเผยถึงที่มาของโรงงานกำจัดขยะต้นแบบภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งทุกวันนี้สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์และเชื้อเพลิงอัดแท่งที่ใช้วัตถุดิบจากขยะเดือนละไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท โดยปุ๋ยอินทรีย์นั้นจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เป็นหลัก สนนราคากระสอบละ 250 บาท/50 กิโลกรัม ขณะที่เชื้อเพลิงอัดแท่งจะส่งให้โรงงานปูนซีเมนต์เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหิน สนนราคาตันละ 1,000 บาท
ส่วนกระบวนการทำงานของระบบนั้นหลังได้รับขยะจากรถเก็บขยะ ซึ่งมีทั้งขยะอินทรีย์และอนินทรีย์ก็จะผ่านสายพานคัดแยกโดยใช้แรงงานคน และขยะที่ผ่านมาการคัดแยกแล้วจะถูกนำไปย่อยสลายโดยใช้เครื่องสับเพื่อลดปริมาตรให้เหมาะต่อการจัดการ หลังจากนั้นขยะก็จะถูกลำเลียงไปสู่โรงบำบัดทางกลและชีวภาพ (Mechanical and biological Treatment) เพื่อปรับเสถียรภาพของขยะให้เหมาะสมสำหรับการนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง
"ในการศึกษาครั้งนี้จะประยุกต์ใช้เป็นโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นระบบปิด มีระบบดูดซับกลิ่นโดยใช้ Biofilter พร้อมทั้งระบบใบกวนและระบบเติมอากาศที่มีประสิทธิภาพสูง ผ่านการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ประมาณ 30 วัน ส่วนขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้เช่นถุงพลาสติก เศษกระดาษก็จะถูกนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง" หัวหน้าทีมวิจัยเปิดเผยข้อมูล
ผศ.ดร.วีรชัยย้ำด้วยว่า หลังจากขยะหมักเหล่านี้ถูกแยกออกจากกันโดยใช้เครื่องคัดแยกแบบตะแกรงหมุนและระบบคัดแยกเศษเหล็ก ส่วนที่ได้ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดิน สำหรับที่สามารถผลิตเป็นเชื้อเพลิงก็จะเข้าสู่กระบวนการอัดแท่งเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลสุรนารีและจำหน่ายต่อไป
นับเป็นอีกก้าวของงานวิจัยในการนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ฝีมือทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี สำหรับชุมชนหรือผู้สนใจเยี่ยมชมเทคโนโลยีการจัดการขยะต้นแบบติดต่อได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านชีวมวล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา โทร.0-4422-4225, 08-1834-9347 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101109/78765/แปลงเศษขยะเป็นปุ๋ยเชื้อเพลิงวิจัยเพิ่มค่าจากเทคโนฯต้นแบบ.html