เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 53
การระบาดของโรคขี้ขาวในกุ้งทะเลเลี้ยง ในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2553 โดยเฉพาะในกุ้งขาว แวนนาไม ซึ่งเป็นกุ้งที่นิยมเลี้ยงมากที่สุดในปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากทางเศรษฐกิจต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ทำให้ผู้เลี้ยงกุ้งมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เพราะกุ้งมีอัตราการเจริญเติบโตช้า ผู้เลี้ยงส่วนใหญ่ ต้องจับกุ้งขายก่อนกำหนด และมีอัตราการรอดต่ำ รวมทั้งอาจทำให้ผู้แปรรูปกุ้งเสียโอกาสทางการตลาดต่อประเทศคู่แข่งในอนาคต ได้ เนื่องจากไม่มีกุ้งขนาดใหญ่ส่งขายต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า โรคดังกล่าวจะคงอยู่กับการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลไทยไปตลอด เนื่องจากตัวเชื้อสามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว
รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งศึกษาวิจัยเรื่อง “โรคขี้ขาวในกุ้งทะเลเลี้ยง” ค้นพบว่า โรคนี้เกิดจากเชื้อโปรโตซัวกลุ่มกรีการีนที่อยู่ในกลุ่มไฟลัมเอพิ คอมเพล็กซ่า (Phylum Apicomplexa) ส่วนใหญ่โปรโตซัวเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในสัตว์ พวกแมลงและหอยอย่างพึ่งพาอาศัยกัน เมื่อกุ้งกินพาหะของเชื้อ เช่น หอย เพรียง ลูกกุ้ง เคย และหนอนชนิดต่าง ๆ เข้าไปก็จะติดเชื้อ ระยะฟักตัวของโรคยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ส่วนใหญ่กุ้งจะแสดงอาการให้เห็นขี้ขาวเมื่ออายุ 40 วันขึ้นไป จึงคาดว่าน่าจะมีระยะฟักตัวมากกว่า 30 วัน เมื่อกุ้งได้รับเชื้อกรีการีนเข้าไปในทางเดินอาหาร เชื้อจะพัฒนาเจริญเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ลำไส้ถูกอุดตันด้วยพยาธิ ในระยะแรกกุ้งจะแสดงอาการโดยการกินอาหารลดลงเพียง เล็กน้อย บางครั้งผู้เลี้ยงจึงไม่สังเกตเห็น แต่เมื่อลำไส้อุดตันแล้ว กุ้งจะกินอาหารลดลงอย่างชัดเจน และมีขี้กุ้งสีขาวลอยอยู่บนผิวน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ กุ้งยังมีอาการตับและตับอ่อนอักเสบ ทำให้การสร้างน้ำย่อย การขับถ่ายของเสีย และการสะสมอาหารลดลง ส่งผลให้กุ้งเจริญเติบโตช้า มีอัตราการรอดต่ำ เปลือกบางกว่าปกติและมีสีซีดจนถึงสีฟ้าอ่อน เนื้อเยื่อใต้เปลือกเกิดการอักเสบและตายทำให้เกิดอาการเปลือกหลวมกรอบแกรบ อีกทั้งมีอาการกล้ามเนื้ออักเสบทำให้กล้ามเนื้อเหี่ยว มีสีขาวขุ่น และการเคลื่อนไหวช้า กว่าปกติ ทั้งนี้สาเหตุโน้มนำที่ทำให้เชื้อ ดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีคือ อุณหภูมิและความเค็มของน้ำทะเลที่สูง การเลี้ยงกุ้งที่หนาแน่นเกินไปและไม่มีระบบการจัดการบ่อที่ดี ทำให้มีพาหะของเชื้อที่พื้นบ่อเป็นจำนวนมาก
สำหรับแนวทางการแก้ไขและป้องกันโรคดังกล่าว รศ.นสพ.ดร.จิรศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนของการควบคุมโรค ผู้เลี้ยงต้อง ควบคุมแหล่งที่มาของเชื้อ คือต้องมีการตรวจพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้งที่นำเข้า หรือมีใบรับรองจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือว่าปลอดเชื้อกรีการีน ควบคุมคุณภาพอาหาร พาหะต่าง ๆ ในบ่อเลี้ยงกุ้ง หากยังไม่พบโรคในฟาร์มก็ควรใช้น้ำระบบปิดกลับมาใช้ใหม่ และควรปรับสภาพบ่อให้สะอาด เช่น ปูพลาสติก ทั้งบ่อ เพื่อลดพาหะของเชื้อที่อยู่ในหน้า ดิน ส่วนการป้องกันโรค ควรใช้ลูกกุ้งที่ปลอดเชื้อกรีการีน กำจัดพาหะของเชื้อที่ พื้นบ่อ รวมทั้งหมั่นตรวจสุขภาพและทางเดินอาหารของกุ้ง เพื่อไม่ให้พยาธิกรีการีน เข้าไปเติบโต และตรวจคุณภาพของอาหารอย่างสม่ำเสมอ หากพบกุ้งป่วยควรรีบตรวจหาสาเหตุและแก้ไข ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในฟาร์ม ควรแยกใช้เฉพาะบ่อ เวลาจับกุ้งขายก็ควรใช้อวนที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ด้านการรักษากุ้งที่เป็นโรคนี้ เนื่องจากเชื้อสามารถติดต่อ และก่อให้เกิดโรคในกุ้งทุกระยะ จึงต้องพิจารณาถึงชนิดและขนาดของยาหรือ สารเคมีที่จะใช้ในกุ้งแต่ละระยะ หากใช้ สารเคมีต้องไม่กระทบต่อสุขภาพของกุ้ง และต้องไม่มีสารตกค้างต้องห้ามเมื่อนำไปแปรรูป ตั้งแต่มีการระบาดของโรคนี้ในไทยนักวิชาการและผู้เลี้ยงกุ้งได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการรักษา ทั้งการใช้กระเทียม กล้วยน้ำว้าดิบ เปลือกมังคุด สับปะรด จุลินทรีย์โปรไบโอติค หรือกรดอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ ผสมอาหารให้กุ้งกิน เปลี่ยนอาหาร ใช้ยาต้าน เชื้อแบคทีเรีย ฯลฯ ซึ่งวิธีส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องจับกุ้งขายก่อนกำหนด และปริมาณกุ้งก็ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากความรุนแรงของโรคที่อยู่ในระยะที่แตกต่างกันและยังไม่มีการพิสูจน์แน่ชัดถึงสาเหตุของโรค
การค้นพบว่าโรคขี้ขาวเกิดจากเชื้อโปรโตซัวกลุ่มกรีการีนในครั้งนี้จึงเป็นแนวทางสำคัญให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงและช่วยให้การค้นหาวิธีการป้องกันและแก้ไขการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=102824