เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 53
ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนหลายรายต่างเริ่มหันเหมาปลูกพืชหมุนเวียนแบบผสมผสานกันมากขึ้น เหตุผลหลักนั้นก็เพื่อให้มีเม็ดเงินเข้ากระเป๋าทุกวัน และ นายทองใส สายทอง เกษตรกรบ้านเลขที่ 93/1 หมู่ 5 ต.ชะอม อ.แก่งคอย จ.สระบุรี เป็นหนึ่งในจำนวนนี้
นายทองใส บอกว่า สภาพพื้นที่ดินในตำบลชะอม ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องน้ำที่ทำการเกษตร ดังนั้น โดยส่วนใหญ่จึงปลูกพรรณไม้ล้อมอย่าง "จำปี" ซึ่งกว่าจะขุดขายต้องรอนานประมาณ 3 ปี ดังนั้น เพื่อให้มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง พื้นที่ซึ่งมีอยู่ 9 ไร่ จึงแบ่ง ปลูกกล้วยไข่เกษตรศาสตร์ 2 ส้มโอพรรณไม้ล้อม และ "คูน" ที่ทางอีสานเรียกว่า "ทูน" เหนือบอกว่า "ตูน" ส่วนทางภาคใต้ เรียกว่า "อ้อดิบ" มี ลักษณะคล้ายบอน ก้านใบและแผ่นใบสีเขียวอ่อน มีนวล บางคนนิยมนำมา "เปิบ" สดๆคู่กับน้ำพริก ส้มตำ ลาบแล้วแต่ว่าใครจะชอบ มาปลูกเสริมเพื่อให้เงินเข้ากระเป๋ารายวันได้
ที่คิดปลูกคูน ลุงทองใส บอกว่า ไปเห็นแม่ค้านำมาขายในตลาดแถวหัวนา ข้างน้ำตกกะอาง จ.นครนายก แต่ละวันมักขายหมดค่อนข้างเร็ว จึงเข้าไปสอบถามถึงสถานการณ์ เห็นว่าราคาค่อนข้างดี ตลาดมีความต้องการสูง ไม่ต้องดูแลรักษาให้ยุ่งยาก อีกทั้งไม่มีโรคแมลงรบกวน จึงกลับมาปลูกโดยซื้อหน่อพันธุ์มาทำการขยาย ซึ่งครั้งแรกลงไว้ 3,000 หน่อ ปลูกปนแซมในป่าจำปี
โดยการปลูกนั้นจะเว้นช่องว่างระหว่างแถว 5 ศอก แต่ละกอห่าง 50 x 50 ซม. เสร็จแล้วขุดหลุมลึกประมาณ 15 ซม. แล้วนำหน่อพันธุ์ลงหลุมละ 1 ต้น และด้วยพื้นที่แถบนี้มีปัญหาในเรื่องของน้ำทำการเกษตร จึงต้องติดสปริงเกอร์ปล่อยน้ำ ในช่วงแรกปล่อยวันละครั้ง สังเกตเห็นว่าหน่อพันธุ์ตั้งตัวได้แล้ว สามารถทิ้งระยะห่าง 2-3 วัน/ครั้ง
หลังจากนั้นประมาณ 15 วัน เริ่มให้ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 กก./ไร่ โดยหยอดตามกอประมาณ 10-20 เม็ด/กอ เว้นระยะ 15 วัน จึงกลับมาใส่อีกครั้งในปริมาณเท่าเดิม ส่วนช่วงหน้าฝนไม่ใส่เพราะคูนจะงามและปลูกง่ายในฤดูนี้ หลังจากปลูกประมาณ 3 เดือน จึงสามารถตัด "ก้าน" รอบนอกขายได้ ซึ่งแต่ละกอควรเหลือประมาณ 4-5 ก้าน
เพื่ออีกทุกๆ 7 วัน จะได้มีก้านคูนตัดส่งได้อย่างสม่ำเสมอตามที่ตลาดมียอดสั่งเข้ามา ซึ่งราคาซื้ออยู่ที่ 5-8 บาท/กิโลฯ หน่อคูนแต่ละรุ่นที่ลงไว้จะทำเงินเข้ากระเป๋าได้นานประมาณ 1 ปี โดยสังเกตจากก้านที่เริ่มสั้นลง มีหัวขึ้นคล้ายต้นเผือก แสดงว่าได้เวลา "โละ" ทำแปลงแล้วปลูกใหม่ ในครั้งนี้ไม่ต้องวิ่งหาซื้อหน่อพันธุ์ (ราคา 3 บาท/หน่อ) เพราะครั้งนี้เราสามารถทำหน่อพันธุ์ได้เอง โดยนำส่วนหัวคูนมาผ่า แล้ววางไว้หน้าดินคลุมด้วยฟาง หญ้า หรือใบไม้แห้ง กระทั่งเกิดหน่อขึ้นมาก็สามารถนำไปปลูกได้
เมื่อถามถึงรายได้ ลุงทองใสบอกว่า ขายกล้วยไข่เฉลี่ยสัปดาห์ละ 700 บาท รายได้จากคูนที่ปลูกเสริมตามพื้นที่ว่าง หลังหักค่าแรงค่าปุ๋ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/ไร่ โดยรวมแล้ว "หากไม่ใช้ชีวิตที่ฟุ่มเฟือย" สามารถอยู่ได้อย่างสบายๆ แล้วอีก 2-3 ปี ก็จะมีรายได้ จากการขุดพันธุ์พรรณไม้ล้อมขายให้พ่อค้าต้นไม้ หรือไม่ก็กลุ่มคนรับตกแต่งสวน
สำหรับใครที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.08-4864-2708 ในวันและเวลาที่เหมาะสม.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/125610