เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 53
ผลการศึกษาระบุว่า การปลูกยางพาราจะสามารถกรีดน้ำยางได้ 25 ปี นั่นหมายถึงการกรีดยางพาราโดยทั่วไปคือ กรีดครึ่งหนึ่งของเส้นรอบลำต้น ล่าสุด สุวรรณ สกุลวงศ์สุเมธ เกษตรกรชาวสวนยางพาราจากหมู่ 7 ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา แนะเคล็ดลับการกรีดยางพาราแบบ "รอยรีดสั้น" กรีดเพียง 1 ใน 4 ของเส้นรอบวงของลำต้น ผลออกมามีผลผลิตน้ำยางไม่แตกต่างกัน แต่มีข้อดีจะทำให้อายุการกรีดยางพารายาวขึ้น ที่สำคัญต้นยางพาราไม่โทรมเร็วอีกด้วย
สุวรรณ บอกว่า ได้ทดลองกรีดยางพาราแบบรอยกรีดสั้นมาหลายปีแล้ว พบว่าเป็นผลดีต่อต้นยางพาราและเจ้าของยางพาราเองอย่างแน่นอน เพราะเมื่อก่อนเกษตรกรจะนิยมกรีดยางพาราต่อเมื่อมีอายุ 7 ปี จะรีดช่วงสูงจากพื้นราว 150 เมตร เวลากรีดจะลากรอยยาวครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวงลำต้น เอียง 30 องศา เพื่อให้น้ำยางไหลลงถ้วย พอกรีดเกือบถึงพื้นก็เปลี่ยนไปกรีดอีกด้านหนึ่งที่ยังไม่ได้กรีด ส่วนที่กรีดหน้าแรกจะใช้เวลา 10-12 เปลือกยางพาราจะขึ้นใหม่ และได้กรีดเป็นรอบสอง แต่ตอนหลังเกษตรกรเริ่มทำสวนยางพารามากขึ้น ทำให้เจ้าของสวนยางไม่ได้กรีดเอง ต้องจ้างคนอื่น โดยการแบ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ คือเจ้าของได้ 60% ลูกจ้างได้ 40%
"ปัญหามีอยู่ว่า พอเราจ้างคนอื่นมา ลูกจ้างต้องการให้ได้ผลผลิตมาก โดยไม่คำนึงว่าต้นยางจะโทรมเร็ว บางทีกรีดลึก เปลือกหนา ส่งผลให้อายุการกรีดสั้นลงก่อนกำหนด ตอนหลังมีบางรายกรีดแบบรอยกรีดสั้นลงคือ 1 ใน 3 ของเส้นรอบวง แต่ผลผลิตก็ไม่น้อยลง ผมเลยลองกรีดสั้นกว่า คือ 1 ใน 4 ของเส้นรอบวง เอียง 22 องศา พบผลผลิตใกล้เคียง ที่สำคัญเมื่อเปลือกต้นยางที่ไม่ถูกกรีดเหลือยู่ 3 ส่วน จะทำให้รากดูดส่งปุ๋ยและน้ำส่งผ่านลำต้นไปยังใบใช้ในการสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ต้นยางพาราได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญเปลือกยางกรีดน้อย ต้นยางพารา 1 ต้น สลับกรีดได้ 4 หน้า ต่อไปอายุการกรีดยางต้องยาวขึ้นแน่นอน" สุวรรณ กล่าวอย่างมั่นใจ
ด้าน อุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวงการยางพารามายาวนาน และลงพื้นที่ดูเทคนิคการกรีดยางพาราแบบรอยกรีดสั้น ซึ่งเป็นแบบฉบับชาวบ้านของ สุวรรณ บอกว่า เป็นเทคนิคที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างแท้จริง สะดวกต่อการกรีดที่ใช้เวลาน้อยลง การสิ้นเปลืองของเปลือกต้นยางพาราก็น้อยลง เพราะส่วนที่ไม่ได้กรีดที่เหลืออีก 3 ส่วนนั้น เป็นส่วนที่เหลือมากพอ ที่เมื่อรากดูดน้ำและอาหารผ่านไปยังลำต้นยางพาราได้ ต่อไปจึงมั่นใจว่าจะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เป็นการช่วยรักษาหน้ายางได้เป็นอย่างดี ขณะที่ต้นยางพาราก็สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้โดยไม่โทรมเร็วด้วย
"ตอนนี้ยางพาราราคาแพง ชาวสวนยางพาราที่ปลูกในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ในภาคเหนือและภาคอีสาน เริ่มกรีดกันแล้ว บางรายกรีดทั้งที่อายุยังไม่ถึง จะส่งผลให้ต้นยางโทรมเร็ว เมื่อเราห้ามชาวบ้านไม่ได้ ผมนึกว่าวิธีนี้น่าจะช่วยได้ ต้นยางอาจโทรมช้ากว่า จึงอยากให้ทางการหรือหน่วยงานของรัฐทดสอบอย่างเป็นทางการ หรือศึกษาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน เพราะเราหยุดชาวสวนยางไม่ให้กรีดยางก่อนกำหนดไม่ได้ เราควรหาวิธีการช่วยเหลืออย่างอื่น" นายอุทัย กล่าว
ประธานสภาการยางพาราแห่งประเทศไทย ย้ำด้วยว่า ถึงเวลาที่หน่วยราชการจะต้องทำการศึกษาการเปลี่ยนระบบการกรีดยางจากกรีด 1 ใน 2 ของเส้นรอบวงลำต้นมาใช้เป็น 1 ใน 4 เปลี่ยนองศากรีดจากเดิม 30 องศา มาเป็น 22 องศา มีดที่ใช้กรีดจะต้องเปลี่ยนเป็นมีดที่ใช้มีเบอร์เล็กและเปลี่ยนวิธีการใส่ปุ๋ยยางให้มีความถี่ขึ้นจากปกติ 6 เดือนครั้ง เพื่อเจ้าของสวนยางกับต้นยางอยู่ด้วยนานกว่าที่เป็นอยู่อีกด้วย
นับเป็นเทคนิคง่ายๆ ไม่ต้องใช้เทคโนโลยี เกษตรกรสามารถไปปฏิบัติได้ทันที ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับชาวสวนยางพาราในยุคนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 11 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101111/78935/กรีดยางพาราแบบรอยกรีดสั้นเทคเนิคง่ายๆภูมิปัญญาชาวพังงา.html