เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 53
“กระจูด” เป็นพืชตระกูลเดียวกับ “กก” เป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตง่าย และแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว พบมากแถบภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย ลำต้นของกระจูดมีลักษณะกลมกลวง มีข้อปล้องภายในคล้ายลำไผ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1/8- 5/16 นิ้ว ความสูงประมาณ 1-3 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเผ่าพันธุ์และสภาพแวดล้อม
ต้นกระจูด ชอบขึ้นในที่ที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณริมทะเล สาบที่เป็นดินโคลน ซึ่งเรียกว่า “พรุ” หรือชาวพื้นเมืองทางภาคใต้เรียกว่า “โพระ” ต้นกระจูดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะมีขนาดเล็ก และไม่ยาวนัก การเพาะ ปลูกกระจูดต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ต้นจึงจะโตได้ขนาด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
ต้นกระจูดมี 2 ชนิด คือ จูดใหญ่ และจูดหนู จูดใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้มาก ส่วนจูดหนูมีลำต้นเล็กและสั้น ความเหนียวน้อยกว่าจูดใหญ่ โดยทั่วไปราษฎรทางภาคใต้ใช้กระจูดในการสานเสื่อ ทำใบเรือ ทำเชือกผูกมัด และทำกระสอบบรรจุสินค้าเกษตรและสิ่งของอื่น ๆ ที่จังหวัดพัทลุง แหล่งผลิตกระจูด อยู่ที่หมู่บ้านทะเลน้อย ตำบลพนางตุง และตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน เนื่องจากพื้นที่ดินมีลักษณะเป็นที่ลุ่ม อยู่ริมทะเลสาบ มีน้ำขังตลอดทั้งปี มีทั้งกระจูดที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่ราษฎรปลูกรวมพื้นที่เพาะปลูกกระจูดในบริเวณดังกล่าว ประมาณ 1,000 ไร่เศษ ราษฎรแถบนี้ส่วนใหญ่ คือ ประมาณร้อยละ 80-90 ของครัวเรือนทั้งหมด ประกอบอาชีพหลักในการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูด ฉะนั้น แต่ละครัวเรือนมักจะมีไร่กระจูดเป็นของตนเองด้วย โดยเฉลี่ยประมาณ ครัวเรือนละ 3-10 ไร่
เดิม “กระจูด ในจังหวัดพัทลุงถูกส่งออกไปขายต่างจังหวัดในรูป “วัตถุดิบ”แต่ปัจจุบันการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดในจังหวัดมีการขยายตัวมาก จนปริมาณวัตถุดิบที่ผลิตไม่เพียงพอ ผลิตภัณฑ์กระจูด เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านประเภทหนึ่งของภาคใต้ รูปแบบที่รู้จักทั่วไปคือ “เสื่อกระจูด” หรือ “เสื่อจูด” ภาษาพื้นเมืองภาคใต้เรียก “สาดจูด” เสื่อจูดที่มีความสวยงามคือ เสื่อจูดประเภทลวดลายสีสันต่าง ๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของเสื่อภาคใต้ ซึ่งได้มีการอนุรักษ์และส่งเสริมให้มีการผลิต มากขึ้น เพื่อสืบทอดงานศิลปหัตถกรรม พื้นบ้านและเป็นอาชีพเสริม ทำรายได้แก่ครอบครัวราษฎรในชนบท
การพัฒนาผลิตภัณฑ์กระจูดได้เริ่มทำอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2524 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม มีโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์จากเสื่อจูด เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างส่งให้กับโรงงานทำผลิตภัณฑ์เสื่อจูด อันเป็นส่วนหนึ่งของผลงานด้านการขยายผล ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส
ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎรชนบทภาคใต้ให้สามารถ จำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาเครื่องรีดต้นกระจูดให้แบนเพื่อทดแทนการใช้แรงคน เพื่อช่วยให้การผลิตเสื่อจูดมีความรวดเร็วตามคำสั่งซื้อของตลาดมากยิ่งขึ้น.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=339&contentID=103442