เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 53
ปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ กรมชลประทาน ออกมาการันตีแล้วว่า น้ำท่วมขังในพื้นที่ราบลุ่มจะลดลงจนกระทั่งเกษตรกรสามารถ ลงมือปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงชีพได้แล้ว
สำหรับการเตรียมพันธุ์ข้าวปลูก ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ควรที่จะต้องหาข้าวสายพันธุ์ที่ดี ทั้งต้านทานโรคแมลง, ให้ผลผลิตสูง และสามารถขายได้ราคาดี ขณะนี้มีข้าวพันธุ์ใหม่ชื่อว่า หอมมะลิ 106 และ อีกหลายสายพันธุ์ ออกมาสู่ตลาด เพื่อเป็นอีกหนทางหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร
โดยทาง ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร อาจารย์ประจำศูนย์พันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม พร้อมคณะนักวิจัย ได้สร้างผลงาน "การพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มกลิ่นหอมมะลิ เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว"
ทีมงานวิจัยเริ่มต้นจากการค้นพบ ยีนควบคุมความหอมของข้าวขาวดอกมะลิ โดยใช้วิธีการ map-pased cloning ซึ่งไม่ใช่ Genetically modified organism (GMOs) จึงทำให้พบกระบวน การที่ทำให้ข้าวมีการสะสมสารประกอบ 2-acetyl-1-pyrroline (2 AP) ซึ่งเป็นสารหอมหลักของข้าวทุกสายพันธุ์ เพื่อนำไปใช้เพิ่ม ระดับความหอมของข้าวในข้าวพันธุ์อื่นๆ โดยใช้วิธี functional marker (Aromarker) ที่สามารถถ่ายทอดลักษณะความหอมของข้าวหอมมะลิไปสู่ข้าวพันธุ์อื่นๆที่มีผลผลิตสูงแต่ไม่มีความหอม จนได้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ เช่น ข้าวหอมชลสิทธิ์, ข้าวปิ่นเกษตร, ข้าวสินเหล็ก ที่ปลูกในนาชลประทาน ผลผลิตมากกว่า 1 ตันต่อไร่
ผลการวิจัยยังนำมาสู่ การพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง ในการปรับปรุงข้าว ได้ สายพันธุ์ใหม่มากถึง 8 สายพันธุ์ อย่างเช่น หอมมะลิ 106 และ ข้าวเหนียวหอม กข.6 ฯลฯ ที่มีลักษณะเด่น ต้านทานโรคแมลง สามารถปลูกได้ ในพื้นที่แล้ง หรือ พื้นที่ดินเค็ม และ ให้ผลผลิตสูง
ดร.อภิชาติ บอกอีกว่า นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีค้นหาข้าวสายพันธุ์ใหม่ ด้วยการดึงลักษณะเด่นของข้าวแต่ละสายพันธุ์ ในระดับพันธุกรรม หรือ การแสดงออกของยีนที่แตกต่าง หรือ Molecular Maker Snip ซึ่งทำให้การค้นหาข้าวสายพันธุ์ใหม่ทำได้เร็วขึ้น เพียงแค่ช่วง ระยะเวลา 3 ปีเท่านั้น จากเดิมที่ต้องใช้เวลา นานกว่า 10 ปี กว่าจะได้พันธุ์ข้าวใหม่เพียงแค่ 1 สายพันธุ์ อีกทั้งยังต้องใช้เงินลงทุนสูงถึง 10 ล้านบาท
โดยทีมวิจัยยังได้ร่วมกับ ศูนย์วิจัยข้าวระดับนานาชาติ ดำเนินการถอดรหัสจีโนมข้าว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการปรับปรุงพันธุ์ โดยไม่ต้องใช้ เทคนิคจีเอ็มโอ เทคโนโลยีการเพิ่มสารหอมในข้าว ยังนำไปสู่การโคลนยีนความหอม เพื่อไปเพิ่มความหอมในพืชอื่นๆ เช่น ใบเตย ถั่วเหลือง ข้าวโพดหวาน ตลอดจนมองไปถึงยีนความหอม ซึ่งพบใน มะพร้าวน้ำหอมอีกด้วย
ในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้มาอย่างต่อเนื่อง จนย่าง ก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 แล้ว ก็ทำเพื่อเกษตรกรและลูกหลานคนไทยทั้งสิ้น ความสำเร็จที่เกิดจากการทุ่มเทพลังกายและใจ ส่งผลให้ได้รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ประจำปี 2553 จาก มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์.
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/126947