'แตนเบียน' ศัตรูธรรมชาติกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 53
'แตนเบียน' ศัตรูธรรมชาติกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง
การแพร่ระบาดของ
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น สร้างความหนักใจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังค่อนข้างมาก เพราะมีผลกระทบต่อผลผลิต ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดการณ์ว่า การระบาดอย่างรุนแรงของเพลี้ยแป้งในแหล่งปลูกมันสำปะหลัง 20 จังหวัดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังลดลงคิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่เร่งแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือ เกษตรกร โดยมีแผนควบคุมและกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังด้วยชีววิธี โดยใช้ “
แตนเบียน” Anagyras lopezi ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติของเพลี้ยแป้ง น่าจะเป็นทางออกที่ดีในการแก้ปัญหาในระยะยาวได้
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า แตนเบียนที่กรมวิชาการเกษตรนำมาใช้ควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ในขณะนี้ คือ
แตนเบียน A. lopezi นับเป็นแมลงที่มีประโยชน์ สามารถช่วยทำลายเพลี้ยแป้งชนิดสีชมพูได้ เดิมแตนเบียนชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ นักกีฏวิทยาจากสถาบันวิจัยเกษตรเขตร้อน ประเทศโคลอมเบียสำรวจพบครั้งแรกที่ประเทศปารากวัยและนำไปใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังชนิดสีชมพูที่ระบาดในประเทศต่าง ๆ รวม 25 ประเทศในแอฟริกาตะวันตกประสบผลสำเร็จมาแล้ว
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2552 กรมวิชาการเกษตรได้นำเข้าพ่อ-แม่พันธุ์
แตนเบียน A. lopezi จำนวน 500 ตัว จาก สาธารณรัฐเบนิน เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนที่ห้องปฏิบัติการของสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช พร้อมศึกษาทดสอบในห้องปฏิบัติการกักกันแล้วพบว่า มีความปลอดภัยสามารถนำมาใช้ควบคุมเพลี้ยแป้งในประเทศไทยได้ จึงขออนุมัตินำแตนเบียนออกปล่อยเพื่อทดสอบนำร่องในแปลงปลูกมันสำปะหลังภายในศูนย์วิจัยพืชไร่ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่พบการระบาด นอกจากนี้ยังจะนำไปปล่อย เพื่อประเมินผลเพิ่มเติมที่สถาบันวิจัยมันสำปะหลังแห่งประเทศไทย (ห้วยบง) และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชสีมา โดยจะติดตามประเมินผลความสามารถในการอยู่รอดของแตนเบียนอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ภายใน 6 เดือน ทั้งยังจะประเมินประสิทธิภาพในการควบคุมเพลี้ยแป้งด้วย ซึ่งคาดว่าจะสามารถทราบผลได้ในเวลาประมาณ 1 ปี ภายหลังการปล่อย
“การใช้แตนเบียนควบคุมเพลี้ยแป้ง เป็นการใช้ประโยชน์จากการควบคุมศัตรูพืชโดยธรรมชาติ ไม่มีอันตรายต่อคน สัตว์ และสภาพแวดล้อม ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลานานเพื่อรอให้เห็นผลในการควบคุมแต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจะเกิดความยั่งยืน”
แตนเบียน A. Lopezi จะทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยของเพลี้ยแป้ง ระยะเวลาตั้งแต่วางไข่ถึงตัวเต็มวัยเจาะออกจากมัมมี่ ประมาณ 17-20 วัน ซึ่งแตนเบียน 1 ตัว จะสามารถฆ่าและทำลายเพลี้ยแป้งได้วันละ 20-30 ตัว ขึ้นกับขนาดของเพลี้ยแป้งที่ถูกกิน และลงเบียนเพลี้ยแป้งได้วันละ 15-20 ตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเกี่ยว กับการเพาะขยายพันธุ์แตนเบียน A. lopezi ให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อเพิ่มจำนวนมากขึ้นและนำไปใช้ควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งไม่ให้สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างขึ้นเป้าหมายจำนวน 2.7 ล้านตัว คาดว่าน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้ในระยะยาว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=44758
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง