เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 53
ไบโอดีเซล หรือน้ำมันโซล่าผสมน้ำมันปาล์ม ทั้งบี 2 บี 3 และบี 5 เป็นเชื้อเพลิงที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะผลิตจากพืช แต่ในขั้นตอนการหีบคั้นเอาน้ำมันจากปาล์ม กลับต้องลงทุนสูง มีภาระค่าพลังงานที่ต้องใส่ใจและได้ของเสีย ซึ่งไม่พึงประสงค์ปนออกมาด้วย
สมชาย สิทธิโชค ประธานกรรมการบริษัทปาล์มโมริช ซึ่งทำธุรกิจแปรรูปปาล์มน้ำมัน ที่ อ.เขาพนม จ.กระบี่ มีความพยายามจะเอาชนะปัญหาสำคัญที่เผชิญ คือการแปรรูปปาล์มให้ได้น้ำมัน มีขั้นตอนที่ทำในโรงงานระบบไอน้ำ ที่ต้องต้มน้ำใช้ไอน้ำนึ่งเพื่อแยกผลออกจากทะลายปาล์ม และประสบความสำเร็จในที่สุด เมื่อได้ร่วมมือกับ ดร.กนก คติการ นักวิชาการหัวหน้าโครงการวิจัย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำโครงการศึกษาเปรียบเทียบแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปน้ำมันปาล์ม แบบไม่ใช้ไอน้ำที่จะทำให้เกิดน้ำเสียน้อยที่สุด การลงทุนต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบบใช้ไอน้ำ และสามารถนำไปพัฒนา ขยายโรงงานแบบไม่ใช้ไอน้ำได้ตามสภาพพื้นที่
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการปลูกปาล์มนอกเขตเศรษฐกิจปาล์มที่เกษตรกรทั่วประเทศให้ความสนใจ ประธานกรรมการบริษัทปาล์มโมริช อธิบายพื้นฐานว่าไม่ได้เป็นวิศวกร แต่ก็สนใจศึกษาหาความรู้ ลองผิดลองถูกกับโรงงานแปรรูปน้ำมันปาล์มแบบไม่ใช้ไอน้ำ และได้สูตรลงตัวว่ามี 2 ขั้นตอนสำคัญ คือ
1. การเตรียมผลปาล์มร่วง โดยนำปาล์มทั้งทะลาย มาเข้ากระบวนการแยกออกจากกัน ซึ่งต้องใช้พลังงาน อย่างมาก เมื่อไม่ใช้ไอน้ำเข้าไปนึ่งให้ยุ่ย ก็เปลี่ยนมาผ่านเครื่องสับแห้งหลายครั้ง สามารถแยกตัวทะลายออกมาได้ และปัจจุบันเขาทำได้เพียงแห่งเดียว
2. เป็นการอบแห้งและบีบสกัดน้ำมัน เริ่มจากการไล่ความชื้นและส่งเข้าเครื่องแยกผลปาล์มเข้าเครื่องสกัดน้ำมัน
“โรงงานนี้เป็นต้นแบบ การศึกษาพบว่าต้นทุนการแปรรูปแบบไม่ใช้ไอน้ำถูกกว่าแบบไอน้ำเกือบเท่าตัว แต่ผลที่ได้ต่างกัน แบบไม่ใช้ไอน้ำ ความชื้นจะระเหยเป็นไอ จึงไม่มีน้ำเสีย น้ำมันปาล์มดิบที่ได้จากการแปรรูปวิธีนี้จะสูงกว่าแบบไอน้ำราว 10-20 เปอร์เซ็นต์ ค่าความสดของน้ำมันก็ได้มาตรฐาน ส่วนกาก เส้นใย นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้องได้ การผลิตวิธีนี้ เป็นกระบวนการผลิตสะอาด ผลผลิตที่ได้มี 5 ส่วน ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ปุ๋ย เส้นใย และพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มในการแปรรูปน้ำมันปาล์ม และเป็นกระบวนการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ดร.กนกกล่าว
โรงงานแห่งนี้ถือเป็นความสำเร็จของการวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์โดยแท้จริง สมชาย จึงเปิดสถานที่ นำ ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสื่อมวลชนคณะใหญ่ดูระบบแบบไม่ปิดบัง ทั้งยังนำไปชมโรงงานผลิตปุ๋ย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการนำกากใยของปาล์มมาหมัก โดยการพัฒนาจุลินทรีย์เพื่อให้การย่อยสลายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ได้ปุ๋ยคุณภาพสูง
บทสรุปงานวิจัยระบุว่า โรงงานแห่งนี้ สามารถจะพัฒนาเป็นโรงงานขนาดเล็กไปอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ทั่วประเทศ ซึ่งมีการเพาะปลูกปาล์ม 5,000-10,000 ไร่ โดยตั้งเป็นโรงงานที่แปรรูปแบบไม่ใช้ไอน้ำขนาด 5 ตัน/ชั่วโมง หรือหากมีมากกว่านั้นก็ขยายโรงงานขึ้นตามสัดส่วน เพื่อช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องขนผลผลิตไปส่งโรงงานที่อยู่ห่างไกล
สำหรับผู้มีความเห็นแย้งว่า การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มจะแย่งแปลงที่ดินผลิตอาหาร ดร.กนก อธิบายว่าการปลูกปาล์มและแปรรูปที่ให้ได้ปุ๋ยจำนวนมาก หากแบ่งส่วนมาให้พืชน้ำมันสัก 5 เปอร์เซ็นต์ เราจะได้ประโยชน์มหาศาลทั้งอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่ได้มาด้วยกรรมวิธีผลิตที่ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่มีน้ำเสียรั่วไหลออกไปแม้แต่หยดเดียว.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=319&contentID=104217