เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 53
เนื่องจากในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้เป็นช่วงรอยต่อ ปลายฤดูการทำนาปีและต้นฤดูการทำนาปรัง ในบางพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยข้าวที่ปลูกจะอยู่ในช่วง ออกรวง ในระยะนี้ข้าวจะมีความอ่อนแอต่อโรคไหม้ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธุ์ กข 29 พันธุ์พวงเงิน-พวงทอง พันธุ์โพธิ์เงิน-โพธิ์ทอง พันธุ์พวงแก้ว พันธุ์ข้าว 75 วันหรือข้าวเบา โดยเกษตรกรอาจพบอาการไหม้คอรวง ซึ่งจะเห็นคอรวงเป็นสีน้ำตาลดำ เนื่องจากสภาพอากาศชื้นและเย็น
สำหรับเกษตรกรที่ปลูกข้าวพันธุ์ดังกล่าวข้างต้นควรตรวจแปลงนาอย่างใกล้ชิด กรมการข้าวแนะว่า หากพบอาการไหม้คอรวงควรพ่นสารป้องกันโรคไหม้คอรวงในระยะ 2-3 วันก่อนรวงโผล่ เช่น สารชื่อสามัญว่า ไตรไซคลาโซล (เช่น บีม หรือ บลาสแบน) ไอโซโพรไทโอเลน (เช่น ฟูจิ-วัน หรือ บลาสต๊อป) หรือ อีดิเฟนฟอส (เช่น ฮีโนซาน) แต่ถ้าเกษตรกรได้ปลูกพันธุ์พิษณุโลก 2 และสภาพอากาศชื้นและเย็นในระยะใกล้ออกรวง เมื่อรวงโผล่เกษตรกรอาจพบโรคเมล็ดด่าง ซึ่งจะทำให้เมล็ดข้าวมีสีด่างดำ หรือโรคดอกกระถิน มีลักษณะเป็นกลุ่มผงรวมเป็นก้อนสีเขียวขี้ม้าหรือเหลืองหรือส้มอยู่แทนที่ เมล็ด ป้องกันโดยพ่นสารโพรพิโคนาโซล (เช่น ฮาโก้) จากนั้นคอยสังเกตสภาพอากาศหากยังชื้นและเย็นอยู่ ประกอบกับข้าวอยู่ในระยะน้ำนมและพบโรคไหม้คอรวง หรือเมล็ดด่าง ถือว่ายังมีความเสี่ยงเกษตรกรอาจพ่นสารตามคำแนะนำข้างต้นอีกครั้ง เมื่อเมล็ดข้าวแข็งแล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารใด ๆ อีก
เกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หรืออาจสังเกตจากเทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิก็ได้ โดยหากก่อนและหลังออกรวงประมาณ 10 วัน สภาพอากาศมีอุณหภูมิต่ำสุด ของแต่ละวันประมาณ 20 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านี้ติด ๆ กันตั้งแต่ 5 วันขึ้นไป ข้าวจะมีโอกาสเป็นหมันสูงมาก หากพบอาการของโรคหรือแมลงศัตรูข้าวควรงดการพ่นสารประเภทน้ำหมักชีวภาพที่มี น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ หรือสารประเภทที่มีโปรตีน หรือ อะมิโนแอซิด (กรดอะมิโน) เพราะอาจกระตุ้น การเจริญเติบโตของเชื้อซึ่งเป็นสาเหตุโรค ข้าวและแมลงศัตรูข้าวส่งผลให้การระบาดรุนแรงขึ้น
ในเรื่องนี้ เกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ดร.อัจฉราพร ณ ลำปาง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก สำนักวิจัยและพัฒนาข้าว โทรศัพท์ 0-5531-1184 หรือหน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการ ชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ ในวัน และเวลาราชการ
สำหรับการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมของกรมการข้าว ขณะนี้มีรายงานว่ามีน้ำท่วมพื้นที่นาข้าวไม่ต่ำกว่า 7 ล้านไร่ โดยตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงกำลังอยู่ระหว่างการ สำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตร ในส่วนของกรมการข้าวขณะนี้ได้เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ รับผลกระทบทันทีภายหลังน้ำลด โดยได้ จัดเตรียมเมล็ดพันธุ์ไว้แจกจ่ายให้กับเกษตรกรนำไปปลูก รวมจำนวน 2.5 หมื่นตัน คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ทั้งนี้จะเป็นข้าวประเภทไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในเรื่องปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าว มีเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรอย่างแน่นอน ได้ประสานกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ในการเตรียม ความพร้อมเมล็ดพันธุ์ไว้ส่วนหนึ่งด้วย ขณะเดียวกันได้สั่งการให้ศูนย์ข้าวชุมชนที่มีเมล็ดพันธุ์ข้าวได้เตรียมสำรอง เมล็ดพันธุ์ไว้ให้กับเกษตรกรด้วย อย่างไรก็ตามในส่วนของเกษตรกรเองนั้นได้มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองส่วนหนึ่งอยู่แล้วดังนั้นขอให้เกษตรกรได้มีความมั่นใจว่าภายหลังน้ำลดจะมีเมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ทำให้ปัญหาเรื่องการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเบาบางลง แต่กรมการข้าวยังเป็นห่วงว่าจากนี้ไปจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วสภาพอากาศ โดยทั่วไปจะหนาวเย็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกพื้นที่ เพราะฉะนั้นขอแนะนำเกษตรกรที่ปลูกข้าวว่าควรเลือกใช้พันธุ์ข้าวที่มีความทน ทานต่อสภาพอากาศ หนาวเย็นได้ดี เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 3 กข31 (ปทุมธานี 80) และกข39 ขณะเดียวกันควร หลีกเลี่ยงการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท 1 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 2 กข29 กข41 กข47 และข้าวอายุสั้นอีกหลาย ๆ พันธุ์ ซึ่งพันธุ์เหล่านี้เป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ทนต่อสภาพ อากาศหนาวเย็น หากเกษตรกรปลูกจะมีผลกระทบต่อผลผลิตได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาข้าวกระทบหนาว กรมการข้าวขอแนะนำเกษตรกรให้เริ่มปลูกข้าวประมาณเดือนธันวาคม เพื่อให้ข้าวออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งข้าวจะใช้ระยะเวลาเติบโตถึงช่วงออกดอกประมาณ 90 วัน โดยจะช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาข้าวกระทบหนาวได้ เกษตรกรที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หน่วยงานของกรมการข้าวใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการชาวนา 50 แห่งทั่วประเทศ ในวันและเวลาราชการ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 16 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=104207