เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 53
ข้าว เป็นอาหารหลักของคนไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นสินค้าเกษตร ที่มีจำหน่ายมากที่สุด และส่งออกมาที่สุด ซึ่งมาจนถึงปัจจุบันหลาย ๆ หน่วยงานก็อาจจะหลงลืมไปถึงความสำคัญของชาวนา และการปลูกข้าวดังกล่าวว่า กว่าจะได้ข้าวมานั้นเกษตรกรต้องพบเจออะไรบ้าง และมีปัญหาอะไรบ้าง ล่าสุดทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโครงการดี ๆ ด้วยการดึงเยาวชน ชุมชน เทศบาล และ อบต. เข้ามาศึกษาวิถีชีวิตชาวนา เพื่อเป็นการปลูกฝังให้กับคนรุ่นใหม่ ให้ตระหนักถึงความสำคัญของชาวนาและข้าว ตามโครงการ “ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตร ข้าว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สู่ชุมชน” แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผศ.ทรงเชาว์ อินสมพันธ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า โครงการ “ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตร ข้าว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สู่ชุมชน” ถือเป็นโครงการที่ทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำต่อเนื่องมาแล้วหลายปี โดยมีกลุ่มเด็กตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปถึงระดับมหาวิทยาลัย กลุ่มชุมชน รัฐวิสาหกิจ เทศบาล อบต. รวมถึงระดับจังหวัดมาเข้าโครงการ เพื่อหวังที่จะปลูกฝังให้กลุ่มบุคคลเหล่านี้ โดยเฉพาะเด็ก ๆ เยาวชน ได้รู้ว่า “ชาวนา” นั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไร มีความหมายอย่างไร ถึงเปรียบเสมือนเป็นกระดูกสันหลังของชาติ และ “ข้าว” นั้นมีประโยชน์อย่างไร กว่าจะได้มานั้นต้องทำอะไรบ้าง ให้เด็ก ๆ และเยาวชน รวมถึงชุมชนตระหนักในเรื่องนี้ แล้วนำไปปฏิบัติในชุมชนของตนเอง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่เป็นเยาวชนของชาติ และอนาคตที่ยิ่งใหญ่ในวันข้างหน้า กลุ่มเหล่านี้หากได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ๆ อนาคตต่อไป เมื่อได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่ระดับรัฐบาล หรือระดับผู้บริหารที่สามารถดูแลเกี่ยวกับทางด้านการเกษตร กลุ่มเหล่านี้ก็จะได้รู้ว่า ปัญหาของเกษตรกรอย่างแท้จริงนั้นเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นผลที่คาดหวังในระยะยาว เพื่อการพัฒนาประเทศที่ดีอย่างมากได้ในอนาคตและการสอนนั้น ทางศูนย์วิจัยฯซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นพ้องต้องกันว่าต้องการปลูกฝังเยาวชน และชุมชนอย่างแท้จริง จึงจัดทำโครงการศึกษาอบรมโดยไม่มีการคิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งหน่วยงานไหนที่สนใจสามารถเข้าร่วมได้
ผศ.ทรงเชาว์ กล่าวต่อไปอีกว่าส่วนการสอนเรื่องการปลูกข้าวนั้น เราได้สอนตั้งแต่วิธีการการทำนาข้าวของประเทศไทยว่าแบ่งออกเป็นกี่วิธี อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวไร่ การปลูกข้าวนาดำ และการปลูกข้าวนาหว่าน หลังจากทำการปลูกข้าวแล้ว ยังมีขั้นตอนอื่น ๆ ที่สำคัญ ที่จะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ก็คือ
1. การดูแลรักษา
2. การเก็บเกี่ยว
3. การนวดข้าว
4. การทำความสะอาดเมล็ดข้าว
5. การตากข้าว และ
6. การเก็บรักษาข้าว
จะเห็นได้ว่าความรู้ต่าง ๆ นี้สามารถนำไปต่อยอดได้ และเป็นการปลูกฝังที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกวันนี้หลายคนมองเห็นว่าเรามีข้าวกิน เพราะมีชาวนาในบ้านเราเป็นผู้ปลูก จึงทำให้ละเลยกันไป จนในที่สุดอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ระดับ ประเทศเพราะประชากรของไทยส่วนใหญ่ รวมถึงผู้ที่มาใช้แรงงานในประเทศไทย กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวยังประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่การปลูกข้าว การทำนามีเท่าเดิมและอาจจะลดน้อยลงกว่าเดิมอีกด้วยเนื่องจากที่นาบางแห่ง กลุ่มเกษตรกรเห็นว่า เหนื่อยมากกับการทำนา ลูกหลานไม่อยากให้ทำแล้ว เพราะอายุมาก รวมถึงมีกลุ่มนายทุนเข้าไปขอซื้อเพื่อสร้างหมู่บ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮาส์ต่าง ๆ ซึ่งอนาคตหากไม่มีการปลูกฝังจิตใจให้กับเด็ก ที่เป็นอนาคตของชาติ รวมถึงชุมชนนำไปพัฒนาเพื่ออนุรักษ์ และรักษ์วิถีชีวิตของชาวนาให้คงอยู่แบบนี้ คนไทยอาจจะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อมารับประทานกันก็เป็นได้ เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศที่ประสบปัญหา และต้องสั่งนำเข้าข้าว เพราะไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูประชากรในประเทศ ดังนั้น โครงการนี้ จึงถือได้ว่าเป็นอีกโครงการหนึ่ง ที่อยากให้ทุกคนได้เห็นคุณค่า และความสำคัญของข้าว และชาวนา ไม่แพ้ปัญหาอื่น ๆ ของประเทศ
ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้นอกจากจะสอนเรื่องการปลูกข้าวแล้วยังมีการสอนเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ควบคู่กันไปอีกด้วย นั่นก็เพราะว่า เมื่อมีการปลูกข้าว ก็ต้องใช้ปุ๋ยในการดูแล แต่ถ้ามีการใช้ปุ๋ยเคมี ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากมาย และอันตรายต่อตัวผู้ใช้ และผู้จะรับประทานด้วย รวมถึงหากใช้สารเคมีมากเกินไป ก็จะก่อปัญหาให้กับแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียง และสภาพของดินได้ ดังนั้น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ที่ได้มาจากเศษขยะ เศษอาหาร นำมาหมักเป็นปุ๋ยธรรมชาติมาใช้ ก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกได้เป็นอย่างดี อีกทั้งในปัจจุบันทางด้านสถานศึกษาระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ก็มีคณะเกษตร หรือวิชาคหกรรม ให้กลุ่มนักเรียนมาเรียนรู้การปลูกต้นไม้ การดูแลต้นไม้ การจัดสวน ซึ่งหากมีการนำการทำปุ๋ยอินทรีย์ ไปสอนควบคู่กันไป ก็จะสามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับกลุ่มนักเรียนได้อีกด้วย เพราะทุกวันนี้เศษขยะ ที่เราเอาไปทิ้ง มีมากขึ้นทุกวัน การกำจัดขยะก็เป็นงานที่หนักระดับประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะแต่ละบ้าน แต่ละคนทิ้งขยะคนละชิ้นวันหนึ่งก็หลายล้านชิ้นแล้ว อีกทั้งต้องหาสถานที่ในการฝังกลบ การทำลายอีก แต่ต่อไปหากกลุ่มเด็กรวมถึงชุมชนต่าง ๆ ได้นำความรู้จากที่ได้รับนำไปต่อยอดและพัฒนาในบ้าน ชุมชน แหล่งสถานศึกษาของตนเอง สามารถลดปัญหาเรื่องขยะมูลฝอย และลดการเผาขยะ ซึ่งเป็นผลดีต่อธรรมชาติและมนุษย์ทุกคน รวมถึงสัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้อีกด้วย
สำหรับหน่วยงานไหนที่สนใจเข้าร่วมศึกษาตามโครงการ “ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการเกษตรข้าว และผลิตปุ๋ยอินทรีย์ สู่ชุมชน” ติดต่อได้ที่ศูนย์วิจัยสาธิตและฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียง ใหม่ หมายเลข 0-5394-8401-3.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 22 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=420&contentID=105453