เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 53
ปัญหาน้ำท่วม หลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาทำให้พื้นที่การเกษตรเสียหายเป็นวงกว้าง เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากผลผลิตถูกทำลายเสียหายทำให้ขาดทุนและมี ปัญหาหนี้สินตามมา ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมฟื้นฟูอาชีพเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดอยู่ได้อีกครั้งภายหลังน้ำลดและเข้าสู่ภาวะปกติ
ในช่วงนี้ ระหว่างที่รอความชื้นในดินลดลงและรอปรับปรุงโครงสร้างดินในแปลง ทางกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนระบบการปลูกพืชใหม่จากที่ปลูกลงดินเปลี่ยนมาปลูกในถุงพลาสติกหรือปลูกในกระถางแทน โดยเลือกชนิดพืชให้สอดรับกับความต้องการของตลาดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ อาทิ คริสต์มาส ปีใหม่ และเทศกาลตรุษจีน เป็นต้น ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเกษตรกรได้พืชที่ สามารถปลูกในถุงพลาสติกหรือกระถางได้ มีทั้งไม้ดอกไม้ประดับและพืช ผักสวนครัวที่คนไทยนิยมบริโภค ในชีวิตประจำวัน สำหรับกลุ่มไม้ดอกไม้ประดับที่ตลาดมีความต้องการสูงและมีราคาแพงในช่วงฤดู หนาวและเทศกาลดังกล่าว ได้แก่ สร้อยทอง ซาเวีย เบญจมาศ ดาวเรือง รวมทั้งไม้ตัดดอก เช่น เยอบีรา เป็นต้น ส่วนกลุ่มพืชผักที่มีโอกาส ในตลาดช่วงฤดูหนาว ได้แก่ พืชผัก รับประทานผลหรือฝัก เช่น มะระจีน ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว จะมีราคาสูงเนื่องจากช่วงฤดูหนาวจะเติบโตค่อนข้างช้า อัตราการติดฝักและติดผลต่ำ ทำให้มีปริมาณผลผลิตน้อย ราคาจะแพงมาก ดังนั้น จึงควรวางแผนการผลิตให้สอดรับและตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค
นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กว่าความชื้นในดินจะลดลงปกติและสามารถที่จะเพาะปลูกพืชหลักได้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 เดือน ในการฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และเหมาะแก่การเพาะปลูก ระหว่างนี้เกษตรกรควรฉีกรูปแบบในการผลิตพืชผักป้อนตลาด โดยพิจารณาถึงความต้องการและราคาเป็นหลัก ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับชำถุงมีโอกาสค่อนข้างสูงในตลาดช่วงฤดูหนาวโดยเฉพาะใช้ เป็นของขวัญและของที่ระลึกในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เทศกาลปีใหม่ รวมทั้งใช้ประดับตกแต่งสถานที่เพื่อช่วยสร้างสีสันด้วย
“การผลิตไม้กระถางและไม้ดอกชำถุงมีต้นทุนไม่สูงนัก ขณะที่ผลตอบแทนอยู่ในระดับน่าพอใจ เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่สภาพอากาศเย็นค่อนข้างจะได้เปรียบ ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม ก็สามารถผลิตพืชผักป้อนตลาดในช่วงฤดูหนาวได้เช่นเดียวกัน นอกจากนั้นการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชยังมีโอกาสสูงในตลาดด้วย ซึ่งหลังน้ำท่วมเมล็ดพันธุ์พืชจะขาดแคลนมากและมีราคาแพง เกษตรกรอาจผลิตเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองหรือผลิตเพื่อป้อนเกษตรกรข้างเคียงได้ ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร และช่วยให้มีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัว” ผอ.สถาบันวิจัยพืชสวน กล่าว
หากเกษตรกรสนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร โทร. 0-2579-2759 หรือศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ศูนย์วิจัยพืชสวน ศูนย์วิจัยพืชไร่ ที่ไปได้สะดวก.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=346&contentID=105620