เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 53
“ให้ปรับปรุงโรงสีข้าวพิกุลทองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และให้พิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มาใช้ประโยชน์ อย่างน้อยควรมีขนาดเท่ากับโรงสีที่อำเภอปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ส่วนเครื่องเก่าให้อนุรักษ์ไว้ และปรับปรุงอาคารให้สวยเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้สำนักงาน กปร. เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว” พระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2551
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสะท้อน ตลอดจนราษฎรในพื้นที่ได้ประชุมหารือร่วมกัน และได้กำหนดแนวทางในการพัฒนา โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงาน กปร. ทำการจัดสร้างโรงสีพร้อมจัดหาเครื่องสีข้าวและอุปกรณ์ใหม่มาทดแทน พร้อมเพิ่มองค์ความรู้และการบริหารจัดการโรงสีข้าวแก่ผู้นำสหกรณ์ ผู้นำชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ และดำเนินการปรับปรุงโรงสีพิกุลทองเดิมให้เป็น “พิพิธภัณฑ์” สำหรับการศึกษาเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ต่อไป
เสน่ห์ สภาพันธ์ สหกรณ์จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า โรงสีข้าวพิกุลทองเดิมได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากทรงห่วงใยและมีพระราชประสงค์ช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน จึงมีพระราชดำริให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อตั้งโรงสีข้าวขนาดเล็กกำลังการผลิต 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ซึ่งบริษัท SATAKE ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย ณ บริเวณโครงการชลประทานมูโนะ หมู่ 1 บ้านปูยู ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2528 และ ม.จ.จักรพันธ์ เพ็ญศิริจักรพันธุ์ ได้ประทานชื่อโรงสีแห่งนี้ว่า "โรงสีข้าวพิกุลทอง"
สำหรับโรงสีข้าวพิกุลทองเป็นสถานที่รับฝากข้าวเปลือก โดยทำหน้าที่เสมือนธนาคารข้าว บริการสีข้าวให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตลอดจนรวบรวมผลผลิตข้าวมาสีแล้วขายให้พ่อค้า โดยเกษตรกรที่มาใช้บริการจะได้รับคืนกำไรเฉลี่ยปลายปี ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ในการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว การเก็บเกี่ยว การสีข้าว ตลอดจนการขาย ซึ่งต่อมาเกษตรกรผู้ใช้บริการโรงสีข้าวในท้องที่ ต.เกาะสะท้อน และ ต.พร่อน อ.ตากใบ ได้รวมกลุ่มจัดตั้งเป็นสหกรณ์การเกษตรโรงสีข้าวพิกุลทองตากใบ จำกัด ขึ้น เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2544 เพื่อการบริหารจัดการและส่งเสริมพัฒนาอาชีพร่วมกัน
โดยแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ได้แก่ การรับจ้างสีข้าว การรับฝากข้าว และการบริหารงานภายในโรงสีข้าวพิกุลทอง ในช่วงสถานการณ์ปกติและโรงสีข้าวยังสามารถใช้งานได้เต็มกำลังการผลิต มีเกษตรกรนำข้าวมาใช้บริการสีข้าวจำนวนมาก แต่เนื่องจากโรงสีข้าวได้ผ่านการใช้งานมานาน จึงเกิดการชำรุด จึงนำมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทอง และมีการจัดนิทรรศการด้านการพัฒนาตามโครงการพระราชดำริอย่างครบวงจร ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินงานไปแล้วบางส่วน และจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2554 นี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101124/80437/ยกโรงสีพิกุลทองเป็น“พิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้วิถีเกษตรชาวตากใบ.html