เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 53
คุณเกษศิรินทร์ อำมาตย์มณี เกษตรกรชาวจังหวัดพิจิตร ไม่ได้มีพื้นฐานการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มาก่อนเลย เริ่มแรกก็ได้ซื้อมาทดลองปลูกเลี้ยงก็มีทั้งที่เลี้ยงรอดได้บ้างแต่ก็ไม่ได้งามนักและเลี้ยงตายเป็นเสียส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ท้อถอยกลับพยายามหาความรู้เพิ่มเติม ศึกษามากขึ้นก็สามารถปลูกเลี้ยงได้ดีขึ้นตามลำดับ
จนวันหนึ่งก็ตัดสินใจจะทำสวนกล้วยไม้ จากประสบการณ์ที่ได้พบมานาน 4 ปีและในวันนี้ประสบความสำเร็จมีรายได้ดีพอสมควรจากการปลูกกล้วยไม้เพียง 1 ไร่
คุณเกษศิรินทร์เล่าว่าคนปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ต้องมีความรู้ในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้เบื้องต้น ความรู้ในปัจจุบันนั้นหาได้จากหลายแหล่ง ทั้งตำราการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้, ติดตามอ่านจากเว็บไซต์การเลี้ยงกล้วยไม้, สอบถามจากผู้ที่ปลูกเลี้ยงมาก่อนหรือแม้แต่การออกเที่ยวดูสวนกล้วยไม้จริง, ทดลองซื้อกล้วยไม้มาเลี้ยงทุก ๆ สายพันธุ์ หรือเลือกปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่เรามีความชื่นชอบส่วนตัวก่อน ไม่นานก็จะรู้ตัวว่าเรามีความถนัดกับการเลี้ยงกล้วยไม้สกุลใด หรือทราบว่ากล้วยไม้สกุลใดเจริญเติบโตเหมาะสมกับพื้นที่
ได้ทดลองเลี้ยงกล้วยไม้มาเกือบทุกสกุลทั้ง ฟาแลนน็อปซิส, รองเท้านารี, หวาย, เข็ม, แคทลียา, ช้าง, แวนด้า ฯลฯ และพบว่าชื่นชอบกล้วยไม้สกุลช้าง และปลูกเลี้ยงได้ดีในพื้นที่ จ.พิจิตร ที่ดินในการสร้างสวนและแหล่งน้ำที่ใช้รดกล้วยไม้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ทำเลในการสร้างสวนหรือสังเกตการณ์ได้จากสวนกล้วยไม้ใหญ่ ๆ มักจะอยู่ใกล้ ๆ กับแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำหรือคลองชลประทานเพราะเป็นน้ำที่เหมาะใช้รดกล้วยไม้ หากนำน้ำบาดาลมารดน้ำกล้วยไม้ จะพบว่าการเจริญเติบโตของกล้วยไม้ไม่ดีเท่าใดนัก เพราะน้ำบาดาลมีคราบสนิม ส่วนน้ำประปาก็สามารถใช้รดกล้วยไม้ได้ดี แต่จะเพิ่มต้นทุนการผลิตมาก สำหรับเคล็ดลับการให้น้ำและการฉีดพ่นปุ๋ยและสารเคมี ควรรดน้ำให้กับต้นกล้วยไม้ก่อนล่วงหน้าประมาณ 2 ชั่วโมงแล้วจึงฉีดพ่นปุ๋ยและยาตาม ต้นกล้วยไม้จะมีการเจริญเติบโตและตอบสนองต่อปุ๋ยได้อย่างชัดเจน
แต่เดิมในการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ จะใช้ปุ๋ยและสารเคมีเป็นประจำ แต่พบว่าการใช้สารป้องกันกำจัดโรค-แมลงนั้น ทำให้ไม่สามารถเดินดูหรือดูแลกล้วยไม้ได้อย่างเต็มที่ ด้วยกลิ่นเหม็นและอันตรายต่อสุขภาพ จึงได้ประยุกต์ใช้สารป้องกัน กำจัดศัตรูกล้วยไม้ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีวภาพ ที่เริ่มมีจำหน่ายมากขึ้นในท้องตลาด เริ่มแรกก็มีการใช้ร่วมกับสารเคมีก่อนเพื่อดูประสิทธิภาพ จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน จนสวนกล้วยไม้ใช้สารป้องกันกำจัดโรค-แมลงที่เป็นสารชีวภาพทั้งหมด สามารถทำได้จริง กล้วยไม้ก็มีการเจริญเติบโตเป็นปกติเหมือนช่วงที่ใช้สารเคมี.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=568&contentID=106046