เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 53
นายเฉลิมเกียรติ แสงวิเศษ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 24-26 พฤศจิกายน 2553 และวันที่ 29 พ.ย. 2553-1 ธ.ค. 2554 นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และคณะเดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริภาคเหนือ
อาทิ โครงการพัฒนาบ้านกอก- บ้านจูน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปัว ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านจูนใต้ซึ่งเป็นหมู่บ้าน บริวารของบ้านกอก ต.ภูคา อ.ปัว จ.น่าน เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ที่ผ่านมาทรงเห็นสภาพความเป็นอยู่ของราษฎรที่มีความด้อยโอกาส ทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคม สภาพป่าในพื้นที่ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ มีสภาพเสื่อมโทรม จึงได้มีพระราชดำริกับหัวหน้าส่วนราชการที่เข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ ให้ดำเนินการช่วยเหลือพัฒนาราษฎร โดยทรงเน้นการพัฒนาให้เจริญจากข้างในก่อนแล้วค่อยระเบิดออกไปข้างนอก
โครงการนี้ตั้งอยู่ที่บ้านกอก-บ้านจูน หมู่ 11 ตำบลภูคา อำเภอปัว จังหวัดน่าน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยภูคาและป่าผาแดง เนื้อที่ 12,500 ไร่ การน้อมนำพระราชดำริมาปฏิบัติของส่วนงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยการก่อสร้าง ฝายทดน้ำ พร้อมระบบขนส่งน้ำและบ่อพักน้ำขนาด หนึ่งแสนลิตร เพื่อนำน้ำไปใช้ในการอุปโภคบริโภค และพื้นที่การเกษตรกรรม จัดระเบียบชุมชนจำนวน 4 กลุ่มบ้าน คือ บ้านกอก หลวง, บ้านกอกน้อย, บ้านจูน เหนือ และบ้านจูนใต้ รวมทั้งหมด 99 หลังคาเรือน 135 ครอบครัว ประชา กรทั้งหมด 429 คน
เพาะชำกล้าไม้ สำหรับนำไปปลูกเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน ปลูกหวาย, ปลูกไม้ใช้สอยและปลูกเพื่อฟื้นฟูป่าในพื้นที่ที่ราษฎรเคยทำกินมาก่อน เพื่อการอนุรักษ์กลับฟื้นคืนเป็นป่าต้นน้ำลำธารอย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น เก็บกักตะกอน และปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน
มีการส่งเสริมการปลูกข้าว จากเดิมเคยปลูกข้าวไร่หมุนเวียนเปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได โดยให้ราษฎรขุดนาเองและได้รับค่าตอบแทนไร่ละ 3,000 บาท ปัจจุบันมีราษฎรขุดนาขั้นบันไดแล้ว 300 ไร่ ผลผลิตข้าวในนาขั้นบันได แบบหยอดเมล็ดได้ผลผลิตข้าวสูงสุด 60 ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นผลผลิตที่น่าพึงพอใจ ขณะเดียวกันก็มีการจัดทำแปลงทดลองการปลูกข้าวนาขั้นบันได เพื่อทดสอบพันธุ์ที่เหมาะสมและทดลองปลูกข้าวสาลี ควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ของราษฎรให้สามารถพูด-อ่าน-เขียนภาษาไทยได้ ปัจจุบันมีโรงเรียนระดับอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวิทยาการใหม่ ๆ ในการทำกินให้มากขึ้น ส่งเสริมการเรียนรู้ของ ราษฎรใช้ช่วงเวลาว่างให้เกิดประโยชน์ โดยการทอผ้าพื้นเมืองและการปักผ้า ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 122 คน ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้น นำส่งกองงานศิลปาชีพฯ และนำออกขายให้กับบุคคลทั่วไป
ในโอกาสเดียวกันนี้องคมนตรีและคณะยังได้เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมสถานีพัฒนาการ เกษตรที่สูงฯ บ้านสะจุก-สะเกี้ยง อ.เฉลิมพระเกียรติ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ภูพยัคฆ์ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน และ สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสันติสุข อ.ปง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา และโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า จังหวัดพะเยา
พื้นที่โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านธารทอง อ.เชียงแสน ฟาร์มทดลองเลี้ยงแกะ และสัตว์ปีก บ้านร่มฟ้าทอง อ.เวียงแก่น สถานีเกษตรที่ สูงฯ ดอยบ่อ อ.เมือง โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ดอยคำ อ.เวียงแห จ.เชียงราย และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ บ้านห้วยหยวกป่าโซ อ.แม่ฟ้าหลวง สถานีเกษตรที่สูงฯ บ้านห้วยเมืองงาม อ.แม่อาย สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ดอยม่อนล้าน โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ฯ บ้านนาศิริ และสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงฯ ห้วยแม่เกี๋ยง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
พร้อมกันนี้องคมนตรีและคณะได้มอบเครื่องกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรในพื้นที่ที่เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมอีกด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 26 พฤศจิกายน 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=344&contentID=106292