เมื่อวันที่ 27 มกราคม 53
นักวิจัย มก. ชี้ผลวิจัย “น้ำคั้น จากใบข้าว” มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพิ่มมูลค่าแก่ข้าวไทย ยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
ดร.ลักขณา เบ็ญจวรรณ์ นักวิจัยจากฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง สถาบันวิจัยและพัฒนากำแพงแสน ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า ทีมวิจัยได้ศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและผลิตภัณฑ์จากน้ำคั้นใบข้าว โดยนำน้ำคั้นใบข้าวพันธุ์ไทยเปรียบเทียบกับน้ำคั้นใบข้าวสาลีที่จำหน่ายในท้องตลาด พบว่าน้ำคั้นจากใบข้าวทุกพันธุ์ที่นำมาศึกษา คือ หอมมะลิ 105 สุพรรณบุรี 1 หางทับทิม ข้าวเหนียวดำ ข้าวเหนียวขาว และข้าวสาลี มีสภาวะเป็นกรดอย่างอ่อน มีค่าพีเอชอยู่ในช่วง 5.8-6.2 โดยน้ำคั้นใบข้าวสาลีมีปริมาณคลอโรฟิลล์สูงกว่าน้ำคั้นจากใบข้าวเจ้าและข้าวเหนียวถึง 6 เท่า คือ มีปริมาณ 638 มิลลิกรัมต่อลิตร และมีปริมาณแคลเซียม 67 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าข้าวเจ้าและข้าวเหนียวถึง 3 เท่า
ส่วนปริมาณของธาตุแมกนีเซียมนั้นพบว่าน้ำคั้นจากใบข้าวเจ้าและข้าวเหนียวมีปริมาณแมกนีเซียมสูงกว่าน้ำคั้นจากใบข้าวสาลี โดยน้ำคั้นใบข้าวหอมมะลิ มีปริมาณธาตุแมกนีเซียมและเหล็กสูงที่ สุด คือ 677 มิลลิกรัมต่อลิตร และ 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ตามลำดับ ส่วนการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ พบมีปริมาณสูงที่สุดในน้ำคั้นจากต้นกล้าข้าวหางทับทิม รองลงมาคือ ข้าวสุพรรณบุรี 1 ข้าวหอมมะลิ 105 และข้าวเหนียวดำ ตามลำดับ จากผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า น้ำคั้นจากใบข้าวไทยและข้าวสาลี มีคุณค่าทางโภชนาการสูง สามารถใช้ประโยชน์ในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวไทย อาทิ ชาใบข้าว วุ้นกะทิผสมน้ำคั้นใบข้าว น้ำคั้นใบข้าวพร้อมดื่ม ไอศกรีมและโยเกิร์ตผสมน้ำคั้นใบข้าว ฯลฯ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคที่รักสุขภาพด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=44994