เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 53
อ้อย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เพราะสามารถนำไปผลิตเป็น อาหารพลังงาน และ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Products) หลากหลายประเภท ซึ่งล้วนแต่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศ, นักลงทุน และเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
ปัจจุบันประเทศไทยมี พื้นที่ปลูกอ้อยประมาณ 6.5 ล้านไร่ ซึ่งให้ผลผลิตประมาณ 70 ล้านตันต่อปี จากปริมาณอ้อยดังกล่าว สามารถนำไป ผลิตเป็นน้ำตาลได้ปีละประมาณ 7 ล้านตัน แบ่งเป็น 2 ล้านตัน ใช้บริโภคภายในประเทศ และอีก 5 ล้านตัน ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ
ศักยภาพการผลิตอ้อยในประเทศไทย ถือว่ายังมีประสิทธิภาพต่ำ ผลผลิตเฉลี่ย 8–10 ตันต่อไร่ ค่าความหวานอยู่ในระดับ 11–12 ซีซีเอส ขณะที่กลุ่มประเทศ บราซิล, ออสเตรเลีย, จีน และ อินเดีย ผลผลิตอยู่ที่ 13–15 ตันต่อไร่ และค่าความหวานอยู่ที่ 13-15 ซีซีเอส
หากสามารถพัฒนาการปลูกอ้อยให้ได้ผลผลิตสูง มีรูปแบบการจัดการที่มีประสิทธิผลและมีต้นทุนต่ำ ก็จะยิ่งทำให้ชาวไร่อ้อยมีรายได้และผลกำไรมากขึ้น อุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ก็จะมีวัตถุดิบที่มั่นคง ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากล
นายอภิวัฒน์ บุญทวี ผู้อำนวยการด้านอ้อย บริษัทสวนเกษตรอุตสาหกรรมจำกัด (มิตรผล) บอกว่า กลุ่มมิตรผลได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อย โดยปี 2553 ลงทุนพัฒนาระบบน้ำจำนวน 90 ล้านบาท เพื่อวางระบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่ 32,000 ไร่ แล้วเสร็จในเดือน เม.ย.2554 จากนั้นในปี 2554-2556 ยังมีแผนจะลงทุนขยายระบบชลประทานในพื้นที่ปลูกอ้อยเป็น 60-65% จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมดจำนวน 1.2 ล้านไร่
"กลุ่มมิตรผลต้องการ เพิ่มผลผลิตต่อไร่มากขึ้น เพื่อจัดหาวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของโรงงานน้ำตาล จึงได้ดำเนินโครงการ "มิตรผลโมเดล" เพื่อต่อยอดการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากปัจจุบัน 8 ตันต่อไร่ เป็น 17 ตันต่อไร่ โดยจะเข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำด้วยการร่วมลงทุนระหว่างโรงงานน้ำตาลกับชาวไร่ สัดส่วน 50:50 โดยโรงงานน้ำตาลจะลงทุนสร้างแหล่งน้ำ และชาวไร่เป็นผู้ลงทุนเชื่อมต่อแหล่งน้ำ" นายอภิวัฒน์ บอกอย่างนั้น
ด้านนายนิคม ฝาดสุนทร ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำมิตรบ้านลาด อยู่ที่หมู่ 17 ตำบลบ้านแก้ว อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ บอกว่า กลุ่มชาวไร่อ้อยที่บ้านลาดมีพื้นที่ถือครองต่อรายน้อย ขาดอุปกรณ์เครื่องจักรในการทำไร่ ที่ให้ประสิทธิผลสูง มักจ้างรถแทรกเตอร์จากภายนอก เข้าไปดำเนินการในลักษณะต่างคน...ต่างทำ ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านการจัดการอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว ฯลฯ ที่ไม่ทันเวลา ผลผลิตต่อปีอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แค่ประมาณ 8 ตันต่อไร่ ทำให้มีรายได้น้อย แต่เนื่องจากการปลูกอ้อยเป็นอาชีพดั้งเดิมของชุมชน
ฉะนั้น ในการแก้ปัญหา ทางกลุ่มผู้ใช้น้ำมิตรบ้านลาดจำนวน 86 ราย ได้ร่วมกันลงทุนพัฒนาแหล่งน้ำและวางท่อส่งน้ำเข้าไร่ เป็นวงเงิน 2.4 ล้านบาท ต่อยอดจาก โครงการชลประทานที่มีอยู่ เพื่อให้ ครอบคลุมพื้นที่ 1,360 ไร่ ซึ่งทางโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียวเป็นแหล่งปล่อยเงินทุนให้ก่อน และมาผ่อน ชำระภายในเวลา 4 ปี ทั้งนี้ ได้กำหนดตารางการให้น้ำอย่างน้อย 4 ครั้งต่อปี คือ ช่วงปลูกอ้อย, ช่วงอ้อยแตกกอ, ช่วงย่างปล้อง และช่วงที่อ้อยเผชิญกับภาวะแล้งฝน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ผลผลิตอ้อยที่ต่อยอดจากมิตรผลโมเดล ได้มากกว่า 17 ตันต่อไร่
นายจรัล ดอนเตาเหล็ก เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย อำเภอภูเขียว จ.ชัยภูมิ บอกว่า เริ่มจากการตรวจสอบ ดินจะต้องอุดมสมบูรณ์ โดยเน้นการตัดอ้อยสดไม่เผาใบ การไถกลบเศษซากลงดิน และการใช้ กากหม้อกรองเพื่อปรับปรุงโครงสร้างดิน พันธุ์อ้อยต้องเป็นพันธุ์ที่มีความหวานสูง เช่น พันธุ์ LK 92–11 และขอนแก่น 3 มีการจัดการในเวลาที่เหมาะสม โดยต้องควบคุมการปลูกอ้อยให้ทันเวลา และแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีปริมาณ น้ำหนัก และค่าความหวานที่สูงขึ้น
ในปีที่ผ่านมา แปลงปลูกอ้อยของเราได้ผลผลิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ ที่ได้ ถึงจำนวน 28 ตันต่อไร่ ถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 1 ธันวาคม 2553
http://www.thairath.co.th/content/edu/130729