เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 53
นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรมากกว่า 6 ล้านคน โดยรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับอาชีพการทำสวนยางเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ตามโครงการยางพารา 1 ล้านไร่แล้ว ค.ร.ม.ยังมีมติอนุมัติโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่อีก 800,000 ไร่ ขณะที่สวนยางที่มีการส่งเสริมอยู่เดิมก็เริ่มมีการเปิดกรีดได้แล้ว
ดังนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) จึงได้ดำเนินงานโครงการจัดสร้างโรงงานแปรูปยาง และจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราในภาคตะวันออกเฉียง เหนือและภาคเหนือ เพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และทำหน้าที่เป็นกลไกภาครัฐในการรักษาเสถียภาพราคา เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรม และมีโอกาสทางตลาดมากขึ้น พร้อมทั้งจำหน่ายปัจจัยการผลิตคุณภาพดีให้แก่เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร โดยดำเนินการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร 6 ศูนย์ ที่ จ.เลย ชัยภูมิ นครพนม กำแพงเพชร พิษณุโลก และพะเยา
นอกจากนี้ยังมีการสร้างโรงงานแปรรูปยางเพิ่มมูลค่าในระยะที่หนึ่ง โดยการผลิตเป็นยางแท่ง STR 20 กำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี จำนวน 3 โรงงาน ที่ จ.ศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม พร้อมทั้งสร้างโรงผสมปุ๋ยและเก็บปุ๋ยด้วย โดยพิจารณาจากพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งในด้านเส้นทางคมนาคมและการส่งออกไปต่างประเทศ โดยได้ตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์กลางยางพาราของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศูนย์กลางยางพาราของอินโดจีนด้วย
"การสร้างโรงงานแปรรูปยาง และการจัดตั้งศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา นอกจากเพื่อให้องค์การสวนยาง ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพการผลิต ราคายาง และการตลาดแล้ว เกษตรกรยังสามารถขายผลผลิตยางพาราในราคาที่เป็นธรรม และมีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้น เป็นการกระจายรายได้ให้เกษตรกร ได้มีความเป็นอยู่และชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งเป็นแหล่งสร้างงานให้กับแรงงาน ลดการเคลื่อนย้ายถิ่นของแรงงาน ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิตยางพาราอย่างครบวงจร" นายศุภชัย กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 2 ธันวาคม 2553
http://www.naewna.com/news.asp?ID=238882