'เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง' ต้องจัดการเร่งด่วน
เมื่อวันที่ 27 มกราคม 53
'เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง' ต้องจัดการเร่งด่วน
ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง” มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งทำให้เหมาะต่อการขยายพันธุ์ของศัตรูพืชชนิดนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังหลายพื้นที่ต้องต่อสู้อย่างหนักกับเพลี้ยแป้งที่สามารถแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการติดไปกับท่อนพันธุ์ที่ขนย้ายจากแหล่งที่มีการระบาดไปยังแหล่งปลูกอื่น อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ปลูกมันสำปะหลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงทำ “โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง” เพื่อเร่งควบคุมพื้นที่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัดก่อนที่จะแพร่ขยายเป็นวงกว้างและรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะสร้างความเสียหายกระทบต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังไทยได้ในอนาคต
นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้
เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังได้แพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ 20 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ ชัยภูมิ สระแก้ว จันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ชลบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิษณุโลก และ จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมพื้นที่ระบาดประมาณ 600,000 ไร่ ซึ่งคาดว่าการระบาดจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งนี้และ ยังคาดว่าจะทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังของประเทศลดลง คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท
สำหรับ มาตรการเร่งด่วนกำจัดเพลี้ยแป้ง มีเป้าหมายดำเนินการในพื้นที่ 20 จังหวัดที่พบการระบาดรุนแรง โดยจัดตั้ง คณะทำงานและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง 40 หน่วย เพื่อจัดการรณรงค์ให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งกำจัดเพลี้ยแป้งในทุกพื้นที่พร้อมเพรียงกัน โดยมันสำปะหลังอายุ 1-8 เดือน รณรงค์ให้เกษตรกรตัดยอดมันสำปะหลังและฉีดพ่นสารเคมีกำจัดเพลี้ยแป้งหลังตัดยอด ได้แก่ สารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตราการใช้ 8 กรัม/น้ำ 80 ลิตร/ไร่ หรือ สารไวท์ออยล์ 67% อัตราการใช้ 200 ซีซี/น้ำ 80 ลิตร/ไร่ ส่วนมันสำปะหลังช่วงระยะเก็บเกี่ยว คือ อายุ 8 เดือนขึ้นไป รณรงค์ให้เกษตรกรจัดการเศษซากยอด ใบ กิ่ง และต้นมันสำปะหลังหรือตัดยอดในกรณีที่ยังไม่เก็บเกี่ยว และฉีดพ่นสารเคมีบนท่อนพันธุ์ที่ยังเก็บรักษาไว้ในแปลงด้วย ซึ่งมีเป้าหมายพ่นสารเคมีในแปลงที่ระบาดรุนแรง พื้นที่ประมาณ 400,000 ไร่
นอกจากนั้น ยังมีแผนเร่งรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกร เลือกใช้ท่อนพันธุ์ที่สะอาดและปราศจากเพลี้ยแป้ง หรือก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารไทอะมีโทแซม 25% WP อัตรา 4 กรัม/น้ำ 20 ลิตร เป็นเวลา 5-10 นาที ซึ่งจะสามารถป้องกันการเข้าทำลายของเพลี้ยแป้งได้ประมาณ 1 เดือน พื้นที่เป้าหมายไม่น้อยกว่า 600,000 ไร่
ส่วนมาตรการระยะยาว (เฝ้าระวัง) การระบาดของเพลี้ยแป้ง โครงการฯเน้น ให้มีการสำรวจติดตามสถานการณ์อย่าง สม่ำเสมอและใกล้ชิดเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเพลี้ยแป้งในพื้นที่ 45 จังหวัด ที่ปลูกมันสำปะหลัง รวม 7.7 ล้านไร่ ขณะเดียวกันยังจะเร่งถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดการเพลี้ยแป้งให้เจ้า หน้าที่ศูนย์บริหารศัตรูพืช 327 คน และเกษตรกร 17,160 คน พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตและขยาย ศัตรูธรรมชาติควบคุมเพลี้ยแป้ง ได้แก่ แมลงช้างปีกใส 4.4 ล้านตัว และ แตนเบียน (Anagyrus lopezi) จำนวน 2.7 ล้านตัว ปล่อยในพื้นที่ที่มีการระบาด
อีกทั้งยัง จัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 572 ศูนย์ เพื่อจัดทำแปลงสำรวจสถานการณ์เพลี้ยแป้งในพื้นที่ศูนย์ละ 1 แปลง ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานของเกษตรกรข้างเคียงศูนย์ฯ และยังส่งเสริมให้ศูนย์ฯ ผลิตและขยายศัตรูธรรมชาติให้เพียงพอที่จะควบคุมเพลี้ยแป้งในพื้นที่ระบาด ที่สำคัญได้เน้นให้เกษตรกรตรวจสอบท่อนพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้าย โดยชุมชน รวมทั้งก่อนปลูกควรแช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีตามคำแนะนำและยึดหลักวิชาการ ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 มาตรการจะสามารถช่วยควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของเพลี้ยแป้งใน แหล่งปลูกมันสำปะหลัง 45 จังหวัด พื้นที่ 7.7 ล้านไร่ และยังช่วยลดความเสียหายของผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร คิดเป็นมูลค่ากว่า 2,800 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษกำจัดเพลี้ยแป้ง หรือสำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด และศูนย์บริหารศัตรูพืช(ใกล้บ้าน).
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 มกราคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=44980
ข่าวที่เกี่ยวข้อง นำเลี้ยงปูนิ่ม-พัฒนาท่องเที่ยว วิถีสร้างอาชีพของ วชช.เพื่อชุมชน
'ไม้ผลแปลกและหายาก' ที่น่าปลูกในปี พ.ศ.2554
คาดลำไยปีหน้าราคาพุ่ง "ธีระ" ฟุ้งแผนบริหารจัดการดี มุ่งเน้นเดินตามกลไกตลาด
ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง ลดต้นทุนการผลิตได้
วช.หนุนวิจัยปลานิล "จิตรลดา3" คุณภาพเหมาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์
บริหารนำเข้ากาแฟสำเร็จรูป สกัดผลกระทบเปิดเสรีอาฟตา กษ.จับตาล้นตลาด-ราคาร่วง
วิจัย "ดีเอ็นเอ" แตงกวา มก.พัฒนา ต้านราน้ำค้าง