เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 53
หลังมีการลงนามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กับบริษัท บางกอกเมล็ดพันธุ์ จำกัด ในการอนุญาตให้สิทธิประโยชน์ผลงานวิจัยฝรั่งพันธุ์ใหม่จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ HORT-D1 และ HORT-R1 เพื่อนำไปผลิตและจำหน่ายผลฝรั่งสดและต้นพันธุ์ใหม่ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2553 ที่ผ่านมา ทว่าปัจจุบันฝรั่งสายพันธุ์ดังกล่าวกลับเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีรสชาติหอม หวาน กรอบ อร่อย ต่างจากฝรั่งทั่วไปที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดเวลานี้
รศ.ดร.อุณารุจ บุญประกอบ อาจารย์ประจำภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เจ้าของผลงานวิจัยฝรั่งพันธุใหม่นี้ ซึ่งได้ศึกษาวิจัยโครงการปรับปรุงพันธุ์ฝรั่งมากว่า 10 ปี โดยมี ดร.เกรียงศักดิ์ ไทยพงษ์ นักวิจัยร่วมได้รวบรวมเชื้อพันธุกรรมฝรั่งจากในประเทศและต่างประเทศกว่า 100 พันธุ์ โดยได้ผสมพันธุ์และปลูกทดสอบลูกผสมกว่า 2 หมื่นต้นเพื่อคัดเลือกหาพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการและได้คัดเลือกลูกผสมขั้นสูงสำหรับเป็นพันธุ์รับประทานผลสดและแปรรูปแล้ว 26 รหัส และอีก 3 รหัส สำหรับใช้เป็นต้นตอ
"ปัจจุบันเราได้ดำเนินการมาถึงขั้นทดลองการผลิตเชิงพาณิชย์ โดยสามารถคัดเลือกฝรั่งพันธุ์ใหม่ได้ 2 รหัส ได้แก่ HORT-D1และ HORT-R1 ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเหมาะที่จะผลิตเป็นพันธุ์การค้าทั้งการส่งขายภายในและต่างประเทศ" รศ.ดร.อุณารุจ กล่าว
เจ้าของผลงานวิจัยเด่นระบุอีกว่า สำหรับฝรั่งพันธุ์ใหม่ HORT-D1 ได้จากการรวบรวมเมล็ดผสมเปิดของฝรั่งพันธุ์แป้นยักษ์สีทอง เมื่อปี 2542 และระหว่างปี 2545-2547 คัดเลือกได้ 1 ต้นจากจำนวน 120 ต้น โดยพิจารณาจากการเจริญเติบโต ลักษณะทรงผล รสชาติ ความหวานและได้ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอนเพื่อทดสอบคุณภาพด้านอื่นๆ ตลอดจนประเมินความทนทานต่อโรคผลเน่า มีการเจริญเติบโตที่ดี ทรงต้นเป้นพุ่มแจ้ รสชาติหวาน 8-10 บริกซ์ เนื้อแน่น ละเอียด กรอบ รสชาติอร่อยมากและมีวิตามินสูง เหมาะสำหรับรับประทานผลสด
"ส่วนฝรั่งพันธุ์ HORT-D1 เป็นฝรั่งต้นตอ มีคุณสมบัติเด่นในการทนทานต่อไส้เดือนฝอยรากปม ซึ่งเราได้คัดเลือกเมื่อปี 2542 โดบรวบรวมเมล็ดพันธุ์ฝรั่งจากเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในปี 2545 ได้ประเมินการเจริญเติบโตและคุณภาพผล โดยสามารถคัดเลือกได้ 1 ต้น ซึ่งพบว่ามีการเจริญเติบโตดี แต่ผลมีขนาดเล็กและรสชาติไม่อร่อย จึงไม่เหมาะรับประทานผลสด"
อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2545-2547 มีการประเมินความทนทานดินเค็มและปี 2547 จนถึงปัจจุบันได้ประเมินความทนทานไส้เดือนฝอยรากปม โดย รศ.สมชาย สุขะกูล จากภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มก.พบว่า ฝรั่งสายพันธุ์นี้มีความทนทานต่อดินเค็มสูงและทนทานต่อไส้เดือนฝอยรากปมได้ดี ทั้งในสภาพโรงเรือนทดลองและพื้นที่แพร่ระบาด จึงเหมาะที่จะใช้เป็นพันธุ์ต้นตอมากกว่ารับประทานผสสด
สำหรับฝรั่งพันธุ์ HORT-D1 และ HORT-R1 และลูกผสมขั้นสูงอื่นๆ จะทดลองศักยภาพการผลิตเชิงพาณิชย์ในเขตพื้นที่การผลิตฝรั่งหลักๆ ของประเทศ และทดสอบความเข้ากันได้กับพันธุ์ HORT-D1 และใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างฝรั่งพันธุ์ใหม่ต่อไป ส่วนฝรั่งพันธุ์ HORT-R1 อยู่ระหว่างทดสอบความเข้ากันได้กับพันธุ์ HORT-D1 และพันธุ์การค้าอื่นๆ ตลอดจนใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อสร้างฝรั่งต้นตอที่ทนทานไส้เดือนฝอยรากปมมากยิ่งขึ้น
เกษตรกรหรือผู้สนใจฝรั่งพันธุ์ใหม่ สามารถลิ้มลองรสชาติได้ในงานเกษตรกำแพงแสน ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระหว่างวันที่ 3-10 ธันวาคมนี้ พร้อมสาธิตแนะนำวิธีการปลูกอย่างละเอียด หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โทร.0-34284-1084-5 ทุกวันในเวลาราชการ
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 7 ธันวาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101207/81905/มก.กพส.โชว์2ฝรั่งพันธุ์ใหม่เตรียมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์.html