เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 53
การแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืชกัดกินยอดมะพร้าว และปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบรุนแรงต่อชาวสวนมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์อย่างมาก นอกจากส่งผลกระทบต่อผลผลิตที่ลดน้อยลงของเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าและประชาชนทั่วไปอย่างถ้วนหน้า เพราะจากผลผลิตที่ลดลงทำให้อุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากมะพร้าวปรับราคาสูงขึ้น จนก่อให้เกิดผลผลิตมะพร้าวในท้องตลาดเกิดภาวะขาดแคลนอย่างหนัก ล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละ 25 บาทซึ่งหากไม่เร่งหามาตรการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะซ้ำรอยเดิมเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่สมุยเมื่อหลายปีก่อนตามมาอย่างแน่นอน
นายจิรากร โกศัยเสวี อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากวิกฤติปัญหาดังกล่าวขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังเร่งศึกษาและขอความช่วยเหลือจากนักวิจัยของประเทศอินเดียในการพัฒนาสายพันธุ์แตนเบียนที่จะนำมากำจัดหนอนหัวดำ เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดหนักของหนอนชนิดนี้และได้มีการพัฒนาพันธุ์แตนเบียนเพื่อกำจัดหนอนหัวดำเป็นผลสำเร็จมาแล้ว
เบื้องต้นทางอินเดียยินดีที่จะให้ข้อมูลและให้ทางกรมวิชาการเกษตรจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแตนเบียนจากต่างประเทศมาใช้ในประเทศไทยได้ แต่ทั้งนี้การนำเข้ามาต้องมีความปลอดภัย และต้องศึกษาหาสายพันธุ์ที่เหมาะกับภูมิประเทศด้วย ดังนั้นจึงต้องใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่ง
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังทดลองวิธีการฉีดยาฆ่าแมลงเข้าไปในต้นมะพร้าวโดยตรง เพื่อให้ยาดูดซึมและทำให้หนอนหัวดำที่กินใบอยู่ได้รับสารเคมีดังกล่าวไปด้วย แต่วิธีนี้ก็ยังคงเป็นเพียงการยับยั้งเท่านั้น เพราะการทำลายหนอนหัวดำให้ได้ผลจำเป็นที่จะต้องใช้แตนเบียนสายพันธุ์ที่เหมาะสมจะดีที่สุด
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังได้กล่าวแนะนำเกษตรกรด้วยว่า สำหรับการทำลายของหนอนชนิดนี้ให้เกษตรกรตัดใบที่ถูกทำลายลงมาเผาหรือฝังทันทีไม่ควรตัดใบเก่าทิ้งกองไว้ที่พื้นเพราะจะทำให้การระบาดเกิดขึ้นได้อีก จากนั้นให้ทำการฉีดด้วยบีทีซึ่งเป็นจุลินทรีย์ เนื่องจากหนอนหัวดำจะกัดกินที่ใบแก่ แต่ต่างจากแมลงดำหนามจะกัดกินเฉพาะยอดอ่อนของต้นมะพร้าว ดังนั้นเมื่อฉีดบีทีแล้วหนอนหัวดำกินใบจะทำให้หนอนค่อย ๆ อ่อนแอและโทรมลงจนตายในที่สุดแต่อาจต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
ทั้งนี้การทำลายแมลงศัตรูพืชเหล่านี้ส่วนใหญ่เกษตรกรมักจะเห็นผลช้าทำให้ไม่ทันใจ จึงหันไปใช้ยาฆ่าแมลงซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้หนอนหัวดำตายแล้ว ยังทำให้แตนเบียนตายแทนและจะทำให้ศัตรูพืชอย่างแมลงดำหนามกลับมาระบาด อีกครั้ง นอกจากนี้ยังอาจทำอันตรายกับผู้ฉีดไม่ว่าจะเป็นเยื่อบุตา ตลอดจนระบบทางเดินหายใจอีกด้วย เรียกได้ว่านอกจากจะไม่ได้ผลแล้วยังทำให้เกษตรกรเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
หากเกษตรกรมีข้อสงสัยเพิ่มเติมอาจสอบถามจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร เกษตรอำเภอได้โดยตรง หรือ ติดต่อที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โทร. 0-7755-6073-4 ศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมัน จ.สุราษฎร์ธานี โทร. 0-7727-4025-6.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 ธันวาคม 2553
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=345&contentID=108479