เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 53
นับเป็นไม้ผลประจำถิ่นแถบเทือกเขาหลวง สำหรับ "ลางสุก" พืชตระกูลลางสาด ลองกอง ที่ปลูกง่าย ทนทาน ให้ผลผลิตสูง รสชาติดี ปัจจุบันเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจอีกชนิด ดังที่ครอบครัว "ลุงเยื้อน เปาะทองคำ" ในวัย 67 ปี เกษตรกรดีเด่นสาขาทำสวน จ.นครศรีธรรมราช ได้ยึดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ลุงเยื้อน ซึ่งอยู่ที่ 98/2 หมู่ 3 บ้านนานอน ต.นาเหรง อ.นบพิตำ ผู้มีประสบการณ์ในการทำสวนผลไม้มากว่า 36 ปี เล่าว่าตนเองและภรรยาคือป้าจินดา ปลูกลางสุกมาตั้งแต่ปี 2522 บนพื้นที่ 22 ไร่ โดยปลูกสลับแถวกับมังคุด ระยะ 12 คูณ 12 เมตร มีการติดตั้งระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ กำจัดวัชพืช ตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งช่อดอก ใส่ปุ๋ย ฯลฯ
"นิสัยของลางสุกชอบขึ้นในที่ร่ม มีต้นไม้ชนิดอื่นขึ้นบังแสงบ้างจะเติบโตได้ดี แต่ถ้าปลูกเชิงเดี่ยวจะต้องปลูกกล้วยแซม การดูแลรักษาไม่ยากเพราะเป็นพืชที่ทนทาน ใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกปีละ 1 ครั้ง ครั้งละ 5 กิโลกรัมต่อต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 30-15-15 ปีละ 2 ครั้ง คือช่วงหลังเก็บเกี่ยว และช่วงติดผลอ่อน ครั้งละ 1-1.5 กิโลกรัมต่อต้น ต่อด้วยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21" ลุงเยื้อน บอก
พร้อมเสริมว่า ช่วงก่อนผลสุก 45 วัน อัตรา 1-1.5 กิโลกรัมต่อต้น จากนั้นใส่ปุ๋ย ให้น้ำตามปกติ ส่วนการใช้สารเคมีใช้เฉพาะยาฆ่าแมลง (กำจัดมด) ผสมยาฆ่าเชื้อรา และสารจับใบในช่วงผลเล็กและช่วงก่อนสุก 1 เดือน เพียงปีละ 2 ครั้ง ส่วนแรงงานใช้แรงงานในครอบครัว ยกเว้นช่วงเก็บเกี่ยวที่ต้องจ้างเก็บในราคากิโลกรัมละ 2 บาท
"การทำให้ลางสุกออกนอกฤดูไม่ยาก ขอเพียงให้สวนมีความพร้อมเรื่องระบบให้น้ำ ช่วงแล้งเดือนเมษายนต้องให้น้ำต่อเนื่อง ลางสุกจะแตกใบอ่อนแทนการออกดอกขณะที่สวนทั่วๆ ไปจะออกดอก จากนั้นเมื่อต้องการให้ลางสุกออกดอกช่วงสิงหาคม ก็หยุดให้น้ำ 25-30 วัน ช่วงนี้ให้สังเกตว่าเมื่อหยุดให้น้ำ 15 วัน ใบจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และช่วง 25 วันจะเริ่มแทงช่อดอกจึงเริ่มให้น้ำเล็กน้อย ถ้าเห็นว่ามีช่อดอกดกก็ตัดทิ้งบางส่วน และเมื่อดอกบานติดผลแน่นอนแล้ว จึงเริ่มให้น้ำได้เต็มที่" ลุงเยื้อน บอกถึงเทคนิคให้ลางสุกออกนอกฤดู
พร้อมกันนี้ลุงเยื้อน ยังบอกว่า หากราคายางยังสูงอย่างต่อเนื่องน่าจะส่งผลให้พื้นที่ปลูกลางสุกลดลง บวกกับผลผลิตลางสาด ลองกองมีมาก และสุกใกล้เคียงกับลางสุก ทำให้ผลผลิตลางสุกขายยากและราคาไม่ดี สำหรับตนเองไม่เปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่น เพราะเห็นว่าเป็นพืชมีอายุนับร้อยปี เติบโตดี ไม่มีศัตรูรบกวน แม้ว่าราคาจะไม่สูงมาก ถ้าขายได้กิโลกรัมละ 10-12 บาทก็คุ้มค่า
"ปีที่ผ่านมาได้ผลผลิต 28 ตัน กิโลกรัมละ 12 บาท ซึ่งสุกช่วงปีใหม่พอดี ส่วนปีนี้ผลผลิตส่วนใหญ่จะสุกช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ตัน น่าจะขายได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน" ลุงเยื้อน บอกถึงรายได้
ทว่า ความเป็นพืชประจำถิ่นที่ปรับตัวได้ดีทนสภาพแห้งแล้ง ฝนชุก ไม่มีแมลงรบกวน ใช้สารเคมีน้อย นอกจากจะเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ทางเศรษฐกิจแก่เกษตรกรแล้ว ลางสุกยังจะเป็นพืชสร้างสีเขียว สร้างความร่มรื่น ให้แก่โลกไม่น้อย ซึ่งลุงเยื้อนยืนยันว่าควรค่าแห่งการอนุรักษ์ และจะต้องปลูกเพิ่มในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป
ลางสุก เป็นไม้ผลยืนต้น มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ความสูง 20 เมตร ชอบขึ้นบริเวณมีอากาศร้อนชื้น นิยมปลูกด้วยเมล็ด เริ่มให้ผลครั้งแรกอายุ 8-9 ปี ต้นที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ผลผลิต 70-100 กิโลกรัมต่อต้น ออกผลเป็นช่อ เช่นเดียวกับลางสาด ลองกอง ถ้าตัดแต่งช่อดอกจะได้ช่อที่มีขนาดใหญ่ 1-2 กิโลกรัม ออกดอกช่วงมิถุนายน-ตุลาคม เก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 120 วัน
ที่มา : หนังสือพิมพ์คม ชัด ลึก วันที่ 8 ธันวาคม 2553
http://www.komchadluek.net/detail/20101208/82018/ลางสุกพืชเศรษฐกิจถิ่นเขาหลวงผลผลิตสูงรายได้ดีควรค่าอนุรักษ์.html